การประชุมเสวนา 20 ปีวันภาษาแม่สากล “ภาษา ชายแดน การศึกษา และบูรณาการศาสตร์”

การประชุมเสวนา 20 ปีวันภาษาแม่สากล “ภาษา ชายแดน การศึกษา และบูรณาการศาสตร์”
ในวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562
ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

เนื่องในการครบรอบ 20 ปีแห่งการเฉลิมฉลอง “วันภาษาแม่สากล” ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทย, มูลนิธิรักษ์ไทย, มูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น, มูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพสตาล็อซซี (PCF), สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) และ องค์การยูเนสโก (UNESCO) พร้อมทั้งตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย จัด การประชุมเสวนา 20 ปีวันภาษาแม่สากล “ภาษา ชายแดน การศึกษา และบูรณาการศาสตร์” นี้ขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงพลังแห่งความหลากหลายทางภาษาในวาระวันภาษาแม่สากลร่วมกับทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งเผยแพร่ประสบการณ์การทำงานภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นในประเทศไทยเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมต่อไป ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยจำนวน 27 กลุ่ม ผ่านการทำงานวิจัยด้านภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่นโดยเน้นให้ชุมชนเจ้าของภาษามีส่วนร่วม เป็นระยะเวลา 16 ปี เพื่อศึกษา รวบรวม ฟื้นฟู ยกระดับภาษาแม่และส่งเสริมผู้ใช้ภาษาแม่/ภาษาท้องถิ่นให้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชน สังคมและประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมพหุภาษา-วัฒนธรรม

“วันภาษาแม่สากล” หรือ International Mother Language Day (IMLD) เป็นวันที่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้กำหนดให้ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำคัญของภาษาแม่ในกลุ่มชนต่างๆ ทั่วโลกเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ ซึ่งการอยู่ร่วมกันและเรียนรู้ภาษาประเพณีและวัฒนธรรมของผู้อื่นจะนำมาซึ่งทัศนคติที่ดีต่อกันและการร่วมกันพัฒนาชุมชน ประเทศ และสังคมโลกในทุกๆ ด้าน ผ่านความเข้าใจในต้นทุนทางภาษาและวัฒนธรรมของตนเองและเพื่อนมนุษย์ ทั้งนี้ UNESCO ได้ประกาศวันภาษาแม่สากลในปี ค.ศ.1999 และมีการเฉลิมฉลองเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.2000

ภายในงานพบกับกิจกรรมที่น่าสนใจ ตั้งแต่ 08.00 – 16.30 น. พร้อมเลือกชมการแสดง นิทรรศการ เสวนาวิชาการ และสินค้าจากกลุ่มชาติพันธุ์

(คลิกเพื่อดูกำหนดการ)