ภาษาญัฮกุร

คำว่า “ญัฮกุร” แปลว่า “คนภูเขา” ญัฮ แปลว่า “คน” และ กุร แปลว่า “ภูเขา” คนทั่วไปรู้จักคนกลุ่มนี้ในนาม “คนดง” หรือ “ชาวบน” ชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ในป่าบนภูเขา เดิมเป็นพรานป่าและย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ เคยอาศัยอยู่ในป่าแถบเทือกเขาพังเหย มีอาณาเขตที่ต่อเนื่องกันระหว่างภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันพบชาวญัฮกุรอาศัยหนาแน่นในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ

ภาษาญัฮกุร เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ – เขมร สาขาย่อยโมนิก มีความใกล้เคียงกับภาษามอญซึ่งอยู่ในสาขาเดียวกัน นักภาษาศาสตร์เชิงประวัติ ได้แก่ ชอโต และ ดิฟฟลอด พบว่าภาษาญัฮกุรที่พูดกันในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับภาษามอญโบราณที่ปรากฏอยู่ในจารึกสมัยทวารวดีที่ค้นพบในประเทศไทยเป็นอย่างมากจนเรียกได้ว่าเป็นภาษาเดียวกัน เนื่องจากนักวิชาการเชื่อว่าภาษามอญโบราณเป็นภาษากลางของคนในยุคทวารวดีเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว จึงทำให้เชื่อได้ว่าชาวญัฮกุรน่าจะเป็นลูกหลานของคนมอญสมัยทวารวดีที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน

ภาษาญัฮกุร มีระบบเสียงที่แสดงลักษณะภาษากลุ่มมอญ – เขมรชัดเจน ทั้งพยัญชนะต้น (๒๖ ตัว) พยัญชนะสะกด (๑๔ ตัว) ภาษาญัฮกุรไม่มีวรรณยุกต์แต่มีลักษณะน้ำเสียง โดยมีลักษณะน้ำเสียง ๒ ลักษณะ คือ ๑) ลักษณะน้ำเสียงใหญ่ทุ้มต่ำ (เสียงก้อง มีลม) เช่น ชุ่ร = แมลง, เน่จ = ผ้า ๒) ลักษณะน้ำเสียงปกติ และสูง-ตก เช่น ชุร = สุนัข, เนจ = เล็ก เป็นต้น มีพยัญชนะต้นนาสิกอโฆษะนอกเหนือจากพยัญชนะต้นนาสิก โฆษะที่พบกันทั่วไป เช่น ฮนูย = ลิง, ฮมุม = หมี, แฮร็จ = เกี่ยว (ข้าว) เสียงสระในพยางค์เปิดตามหลังด้วยการกักของเส้นเสียงเสมอ ทำให้เสียงสระค่อนข้างยาว เช่น ฮี? = บ้าน, ฮลา? = ใบไม้, ฮวา? = ชิ้นเนื้อ และมีเสียงพยัญชนะสะกดเป็นเอกลักษณ์ของภาษากลุ่มมอญ – เขมร เช่น ชุร = สุนัข, จีญ = ช้าง, ยุล ยุล =ชะนี, ริ่ฮ = รากไม้, ปัซ = เก้ง เป็นต้น ไวยากรณ์ภาษาญัฮกุรมีลักษณะการเรียงคำแบบประธาน – กริยา – กรรม เช่นเดียวกับภาษากลุ่มมอญ – เขมรทั่วไป เช่น ประโยคว่า แม่ะ พ่ะ โจว โดง เฮย <แม่-พ่อ-กลับไป-หมู่บ้าน-แล้ว> = พ่อแม่กลับบ้านไปแล้ว

ชาวญัฮกุรมีองค์ความรู้เกี่ยวกับป่า สัตว์ป่า พรรณพืชพื้นบ้าน สมุนไพร และมีการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการขับเพลงของชาวญัฮกุร โดยมีเสียงเอื้อนที่ไพเราะเป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “ปา? เร่ เร่” มีเนื้อร้องเป็นภาษาญัฮกุร บรรยายถึงความงามของธรรมชาติ การเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง การลาจากและการโหยหาอดีต ปัจจุบันมีผู้สามารถเล่นและขับร้องได้ไม่ถึง ๕ คน

ปัจจุบันภาษาญัฮกุรอยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญ เนื่องจากการรุกคืบของคนไทยเบิ้งหรือไทยโคราชและคนลาวอีสานที่เข้ามาอาศัยปะปน และชาวญัฮกุรบางส่วนได้มีการย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวญัฮกุรอยู่ในภาวะถดถอย เยาวชนเริ่มมีการใช้ภาษาแม่ของตนน้อยลงไปเรื่อย ๆ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาพูดโดยส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ชาวญัฮกุรได้มีความพยายามฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยได้มีการพัฒนาระบบตัวเขียน การสร้างวรรณกรรมท้องถิ่น การสอนภาษาญัฮกุรในโรงเรียน เป็นต้น

ศาสตราจารย์สุวิไล เปรมศรีรัตน์