หนังสือเล่มยักษ์ (Big book)

หนังสือเล่มยักษ์ เป็นหนังสือที่มีขนาดใหญ่ (ประมาณกระดาษ A3 ขึ้นไป) เป็นสื่อการสอนที่ใช้สอนอ่านร่วมกันทั้งห้อง เพื่อให้นักเรียนเห็นต้นแบบการอ่านจากครูและได้อ่านไปพร้อมกันกับเพื่อนในชั้นเรียน และไม่ต้องกังวลหรือเกิดความอายเมื่ออ่านผิด การอ่านหนังสือเล่มยักษ์พร้อม ๆ กันจะช่วยกระตุ้นการอ่านและความสนใจหนังสือของนักเรียนเป็นอย่างดี

หนังสือเล่มยักษณ์เป็นสื่อการสอนที่เน้นด้านความหมายความเข้าใจเป็นหลักก่อน แล้วนำไปสู่การเน้นความถูกต้อง จึงใช้ภาพประกอบที่สามารถสื่อความหมายได้ด้วยภาพ ดังนั้นตัวหนังสือกับภาพจึงต้องสื่อความหมายเดียวกัน เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือเล่มยักษ์จะมีโครงสร้างที่ซ้ำกัน เพื่อทำให้เด็กได้เรียนรู้รูปแบบประโยคและคำศัพท์ต่าง ๆ ภาพแต่ละภาพที่ต่อเนื่องกันทำให้เด็กสามารถคาดเดาเรื่องได้จากภาพ แม้ยังอ่านหนังสือไม่ได้ก็ตาม เนื้อเรื่องที่มีความสนุกสนานและเป็นเรื่องที่นักเรียนคุ้นเคยจะกระตุ้นให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะนักเรียนสามารถคิดคำศัพท์ ตัวละคร หรือเหตุการณ์มาแทนเนื้อเรื่องได้อีกด้วย

เป้าหมายและวัตถุประสงค์
เพื่อใช้เป็นสื่อพัฒนาการอ่านสำหรับเด็ก ใช้สำหรับการสอนนักเรียนทั้งชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการอ่านไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ต้องกังวลว่านักเรียนจะอ่านผิดหรือถูก เพราะอ่านพร้อมกันทั้งครูและนักเรียนทั้งห้อง เน้นความเข้าใจเนื้อเรื่องและตามด้วยการเรียนรู้ ความถูกต้องของไวยากรณ์ภาษา นอกจากนี้รูปภาพในหนังสือเล่มยักษ์ที่มีความชัดเจน และมีสีสันเป็นการกระตุ้นเด็กให้เกิดความต้องการอ่าน ต้องการเขียน เพราะเข้าใจว่าตัวหนังสือมีความหมายและสื่อเรื่องราวได้ นอกจากนี้ยังกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เพราะนักเรียนสามารถคิดคำหรือเหตุการณ์ที่ตนเองรู้จักมาแทนเหตุการณ์ หรือตัวละครในเรื่องได้ ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน

วิธีการจัดกิจกรรมโดยใช้หนังสือเล่มยักษ์

    1. ครูแนะนำเรื่องที่จะอ่านในวันนี้  โดยให้เด็กดูภาพหน้าปกและสนทนาเกี่ยวกับภาพหน้าปก พร้อมทั้งถามเด็กเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะอ่าน
    2. ครูให้เด็กดูภาพและพูดคุยเกี่ยวกับภาพ หลังจากนั้นครูก็อ่านเรื่องให้นักเรียนฟังทีละหน้า
    3. ในขณะที่อ่าน ครูหยุด 2-3 ครั้งและถามนักเรียนว่า ในหน้าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น?
    4. ครูอ่านเรื่องทั้งหมดอีกครั้ง โดยไม่ต้องให้เด็กพูดเกี่ยวกับรูปภาพ
    5. หลังจากที่ครูอ่านเรื่องจบแล้ว ครูตั้งคำถามกับเด็ก เช่น ชอบเรื่องนี้หรือไม่? ทำไม?
    6. ครูอ่านเรื่องพร้อมเด็ก/อ่านพร้อมอาสาสมัคร
    7. ครูสุ่มเลือกให้เด็กออกมาอ่านเอง (โดยให้เด็กเลือกอ่านหน้าใดก็ได้)
    8. ครูอ่านพร้อมนักเรียนทั้งห้อง
    9. จัดกิจกรรมเกมทางภาษาไทย เช่น เกมจับคู่คำ หรือ เกมปิดคำ

 

ตัวอย่างหนังสือเล่มยักษ์ ภาษาอูรักลาโวยจ (คลิกเพื่อดูไฟล์ PDF ฉบับเต็ม)