รำมะนา

การละเล่นรำมะนาเป็นการละเล่นดนตรีพื้นบ้าน ถือเป็นมรดกสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของชาวอูรักลาโวยจ มีความโดดเด่นในด้านภาษาและเนื้อหาของบทเพลงของชาวอูรักลาโวยจ ที่ผู้อาวุโสสืบทอดความรู้ทางด้านดนตรีมาเป็นเวลานาน จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชนอูรักลาโวยจ ในหมู่บ้านสังกาอู้ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

ผู้อาวุโสของชุมชน จะรำและขับร้องบทเพลง แต่คนรุ่นใหม่ วัยรุ่นหนุ่มสาว และเด็กรู้สึกเขินอายไม่ค่อยกล้าแสดงออก รำมะนาในปัจจุบัน ผู้ชายจะเป็นผู้ร้องนำ ร้องรับตีกลองรำมะนา แต่งกายด้วยกางเกงขายาว เสื้อกล้าม และคาดผ้าขาวม้า ผู้หญิงจะแต่งกายด้วยเสื้อและผ้าบาเต๊ะ และทั้งหญิงและชายจะร่ายรำ การร่ายรำของรำมะนา จะต้องรำแบบนุ่มนวลอ่อนช้อยและมีความพร้อมเพรียงกันตามจังหวะของดนตรี ซึ่งแต่ละเพลงจะมีจังหวะและความไพเราะต่างกัน เครื่องดนตรีที่ใช้ ได้แก่ (1) กลองรำมะนา (บานา) มีทั้งกลองรำมะนาตัวแม่และกลองรำมะนาตัวลูก (2) กลองทน มีทั้งกลองทนตัวแม่และกลองทนตัวลูก (3) ฆ้อง และ (4) ฉาบ บทเพลงรำมะนาและจังหวะดนตรีไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีต บทเพลงจะกล่าวถึงความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวอูรักลาโวยจด้านต่าง ๆ เพลงที่ใช้แสดงเริ่มต้นเป็น เพลงลงปง เป็นเพลงเปิด เนื้อเพลงบอกเล่าถึงเรื่องราวของชาวอูรักลาโวยจที่เดินทางผ่านทะเลอันดามัน ความสำคัญของสถานที่และจุดหยุดพักในที่ต่าง ๆ ก่อนจะมาตั้งรกรากอยู่ที่หมู่บ้านสังกาอู้ เพลงอื่น ๆ ที่มีเช่น เพลงลาเอลา เล่าถึงเหตุการณ์ที่ชุมชนเคยประสบปัญหากันมานับตั้งแต่อดีต ส่วน เพลงโลยโลยอีนัง เดิมเคยเป็นเพลงเกี้ยวพาราสี มีจังหวะคึกคักสนุกสนาน และยังกล่าวถึงความสามัคคีของชาวอูรักลาโวยจอีกด้วย

การละเล่นรำมะนาจะนำมาแสดงทั้งประกอบพิธีกรรม เช่น พิธีลอยเรือ และแสดงเพื่อความบันเทิงหลังงานพิธีกรรมเสร็จสิ้น เช่น งานแก้บน งานแต่งเปลว หรืองานดาโต๊ะ เป็นต้น ในอดีต ชาวอูรักลาโวยจไม่มีการบันทึกเรื่องราวของตัวเองในรูปแบบการเขียน จึงอาศัยวัฒนธรรมดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกความเป็นมาของวิถีชีวิตด้านต่าง ๆ แทนลายลักษณ์อักษร บทเพลงดั้งเดิมบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชาวอูรักลาโวยจ บ้านสังกาอู้ ได้ถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งจนถึงปัจจุบัน ทำให้วัฒนธรรมดนตรีของชาวอูรักลาโวยจมีความสำคัญในการบอกเล่าประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก

อ้างอิง

  1. จันทราพันธ์ ทะเลลึก และคณะ. (2555). อารี ปาจัก. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต.
  2. ทีมวิจัยชุมชนชาวอูรักลาโวยจ บ้านสังกาอู้. (2561). แมะฮ กาลา อูรักลาโวยจ (มารู้จัก อูรักลาโวยจ). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต.