ภาษากับการพัฒนาการศึกษา

การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา (ภาษาไทย-ภาษามลายู) เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ดำเนินการในโรงเรียนของรัฐบาลในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ตั้งแต่พ.ศ. 2549 จำนวน 4 โรงเรียน และได้ขยายผลไปยัง 15 โรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีพ.ศ. 2555 และในปีพ.ศ. 2556 ได้มีการถ่ายโอนความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา-พหุภาษาศึกษาสู่การฝึกอบรมนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยได้ผลิตนักศึกษาปีละประมาณ 30 – 40 คน

การจัดการศึกษารูปแบบนี้เป็นนวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบคิดและสติปัญญา เพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมภาษาแม่ที่เน้นการอ่านออก-เขียนได้ รวมทั้งช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ของเด็กในพื้นที่ได้ โดยการใช้ภาษามลายูปาตานีเป็นฐานของการเรียนรู้ของเด็กและใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน ในขณะเดียวกันก็มีกระบวนการเชื่อมโยงเข้าสู่ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ซึ่งผลที่ปรากฏออกมาคือ สามารถแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ของเด็กได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการด้านภาษาไทยที่เห็นได้ชัดเจนว่าเด็กมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นทีมวิจัย ผู้ปกครอง ครูผู้สอน ชุมชน และนักเรียนต่างก็พอใจกับโครงการทวิ-พหุภาษาศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นพัฒนาการของนักเรียนระดับปฐมวัย(ชั้นอนุบาลปีที่ 1 และ 2) ที่ทุกคนต่างก็ชื่นชมยินดีกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่เกิดขึ้นกับบุตรหลานของตน

ผลความสำเร็จของการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา-พหุภาษาศึกษา ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและส่งผลให้ได้รับ “รางวัล UNESCO King Sejong Literacy Prize โดยองค์กร UNESCO” ในปี 2559 โดยพิจารณาว่าเป็นนวัตกรรมแห่งการรู้หนังสือ ในขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ.2560 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเครือข่ายการทำงานทวิ-พหุภาษาศึกษา ได้รับรางวัลระดับโลก UNESCO Wenhui Award 2017 เนื่องจากมีการจัดการเรียนสอดคล้องกับ SDG 4 – Education 2030 Agenda ในการสร้างโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพแก่ผู้ด้อยโอกาสผ่านวิชาชีพและนวัตกรรมของครูผู้สอน