ภาษา-วัฒนธรรม

ภาษา ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารในวิถีชีวิตของแต่ละกลุ่มชน ซึ่งสะท้อนโลกทัศน์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน ทั้งเสียงพูด ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ ทั้งนี้ ภาษาแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาถิ่น ภาษาชาติพันธุ์ และภาษาสัญลักษณ์ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2560 : 2)

ปัจจุบัน “ภาษาชาติพันธุ์” กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต หลายภาษาอยู่ในภาวะถดถอย และอาจเสื่อมสลายไปในระยะเวลาอันใกล้ ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่นานาชาติให้ความสนใจ โดยมีสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์นี้ทำให้ภาษาและวัฒนธรรมโลกมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก อีกทั้งนโยบายทางการศึกษา และนโยบายการใช้ภาษาต่าง ๆ ในสังคม ที่ส่งเสริมเฉพาะภาษาราชการ/ประจำชาติ และนานาชาติซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการสูญเสียองค์ความรู้ท้องถิ่น ซึ่งล้วนมีคุณค่าและเป็นมรดกอันล้ำค่าของมนุษยชาติ (UNESCO)

ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต จึงมีการดำเนินงานศึกษา วิจัย และอนุรักษ์ ฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนกว่า 20 กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดผลผลิตต่าง ๆ มากมาย เช่น การจัดทำระบบเขียนภาษาท้องถิ่น อักษรไทย การสร้างวรรณกรรมท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นิทานท้องถิ่น บทร้อง / คำกลอน สำนวนภาษิต รวมทั้งการรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องต่าง ๆ เช่น อาหารพื้นบ้าน สมุนไพรและยา ดนตรี การละเล่นพื้นบ้าน ศิลปหัตถกรรม ประเพณี พิธีกรรม เป็นต้น

อ้างอิง
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2560). ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เรื่อง การกำหนดลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. กระทรวงวัฒนธรรม