การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการดำเนินงานร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ผ่านรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวคือ มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนให้สามารถฟื้นฟูภาษาฯ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีความสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน โดยทำงานร่วมกับนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ และพี่เลี้ยงทีมวิจัยของศูนย์ ฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูภาษา ฯ จำนวน 28 กลุ่มชาติพันธุ์ กว่า 50 โครงการ
จากประสบการณ์การดำเนินงานทำให้ได้รูปแบบการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในลักษณะต่าง ๆ หรือที่รู้จักกันในนาม “มหิดลโมเดล” ประกอบด้วย 11 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสำรวจและวิจัยภาษาขั้นพื้นฐาน โดยศึกษาลักษณะโครงสร้างของภาษา และสถานการณ์ทางภาษา และ/หรือการรู้หนังสือของชุมชนที่จะเข้าร่วมงานวิจัยการฟื้นฟูภาษา โดยนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการหลัก
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหา ผ่านการพูดคุยร่วมกันระหว่างผู้ประสานงาน ทีมพี่เลี้ยง และชุมชน ซึ่งทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักถึงปัญหา และเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูภาษา
ขั้นตอนที่ 3 การพัฒนาระบบเขียน (สร้างใหม่-ปรับปรุง-เชื่อมโยงสู่อักษรดั้งเดิม) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง
ขั้นตอนที่ 4 การสร้างวรรณกรรมภาษาท้องถิ่นระดับต่าง ๆ และพจนานุกรม เพื่อทำให้ชุมชนมีความมั่นใจในการใช้ระบบเขียน ผ่านการสร้างผลงานวรรณกรรมท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หนังสือนิทานเล่มเล็ก หนังสือนิทานเล่มยักษ์ รวมทั้งพจนานุกรมฉบับชาวบ้าน ได้แก่ พจนานุกรมภาษามลายูปาตานี ภาษาชอง ภาษากะซอง และภาษาแสก เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 5 การนำเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในระบบโรงเรียน (เป็นรายวิชาหรือการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทวิ/พหุภาษา) หรือรูปแบบอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาแม่เป็นฐาน เช่น กลุ่มชอง, กลุ่มเขมรถิ่นไทย, กลุ่มญัฮกุร, กลุ่มโส้ (กุสุมาลย์), กลุ่มขมุ เป็นต้น
ชั้นตอนที่ 6 การสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งข้อมูล, พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น, กิจกรรมวัฒนธรรม, ธุรกิจชุมชน, การศึกษา ค้นหา และฟื้นฟูความรู้ท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มชอง, กลุ่มก๋อง, กลุ่มพหุภาษาและวัฒนธรรมชุมชนคนสี่เผ่า โซ่ (ทะวืง), ภูไท, ญ้อ และลาว และกลุ่มบีซู
ขั้นตอนที่ 7 การเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมในชุมชน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การจัดการเรียนการสอนภาษาในระดับศูนย์เด็กเล็ก ได้แก่ กลุ่มบีซู, กลุ่มเขมรถิ่นไทย และกลุ่มกวย 2) การจัดการเรียนการสอนภาษาท้องถิ่นภายในชุมชน ได้แก่ กลุ่มปลัง และกลุ่มขมุ 3) การจัดการเรียนการสอนในแบบตัวต่อตัว เกิดขึ้นในกลุ่ภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญ ได้แก่ กลุ่มกะซอง เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 8 การศึกษาวิจัยและฟื้นฟูความรู้ท้องถิ่นด้านต่าง ๆ เช่น การบันทึกเรื่องสมุนไพรพื้นบ้านและพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ในกลุ่มญัฮกุร, กลุ่มโซ่ (ทะวืง), กลุ่มมอแกน, กลุ่มบีซู, กลุ่มโส้ (กุสุมาลย์) การบันทึกเรื่องอาหารพื้นบ้าน เช่น กลุ่มชอง, กลุ่มเลอเวือะ, กลุ่มมลายูปาตานี การบันทึกเรื่องประเพณี พิธีกรรมพื้นบ้าน เช่น กลุ่มอูรักลาโวยจบันทึกเรื่องประเพณีลอยเรือ (อารี ปาจัก) เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 9 การดูแลติดตามประเมินผลโดยระบบพี่เลี้ยง ถือเป็นระบบกลไกหนึ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้การทำงานวิจัยท้องถิ่นของชุมชนเกิดผลสำเร็จ โดยมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ คอยให้คำแนะนำ การจัดกิจกรรม การประเมินผลการดำเนินงานของทีมวิจัย ตลอดจนให้กำลังใจ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดผลสำเร็จ
ขั้นตอนที่ 10 การสร้างเครือข่ายกับหน่วยงาน, องค์กรในและต่างประเทศ และบุคคลต่าง ๆ เพื่อความร่วมมือและสนับสนุน เพื่อความร่วมมือและสนับสนุน ประกอบไปด้วย 4 ประเภทได้แก่ 1) เครือข่ายการทำงานในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ 2) เครือข่ายการทำงานร่วมกับนักวิชาการและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น 3) เครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในระดับประเทศและต่างประเทศ เช่น การทำงานร่วมกับสำนักราชบัณฑิตยสภา, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สภาความมั่นคง, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, SIL International, UNESCO, SOAS เป็นต้น 4) เครือข่ายแหล่งทุน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, สภาการศึกษา, Unicef, EU เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 11 การผลักดันนโยบายภาษาแห่งชาติ เพื่อการทำนุบำรุงรักษาภาษาท้องถิ่นและนโยบายภาษาเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะด้านการปกป้อง ฟื้นฟู และสงวนรักษาภาษาท้องถิ่นและภาษาในภาวะวิกฤตให้คงอยู่ในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งหากมีการนำนโยบายภาษาแห่งชาติไปใช้ จะถือเป็นการยกย่องและให้เกียรติชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ในขั้นตอนที่ 4-8 ของกระบวนการชุมชนสามารถเลือกตามความต้องการ หรือเลือกได้ตามบริบทของชุมชน ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ส่วนในขั้นตอนที่ 9-11 นั้นก็อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มทำงานได้เช่นกัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
โครงการวิจัย
ภาษา-วัฒนธรรม
หนังสือเผยแพร่