สื่อการเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล สถานศึกษา 14 แห่งในพื้นที่เกาะลันตา และได้รับการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นทั้ง 9 หมู่บ้าน 3 ตำบล 1 เทศบาลผ่านกระบวนการทำงานที่ส่งเสริมความตระหนักให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย (Intercultural Education training workshop) การระดมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของแต่ละชุมชนเพื่อให้เห็นการก่อร่างสร้างตัวเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตนเอง (Historical timeline) และการบันทึก/คัดเลือกข้อมูลวัฒนธรรม ปราชญ์ท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญาที่โดดเด่นของแต่ละชุมชน (Cultural calendar) เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ในการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนที่พื้นที่โรงเรียนทั้ง 14 แห่งในเกาะลันตา เพื่อให้นักเรียนทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีทักษะในการเรียนรู้กลุ่มคนที่มีภาษา วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การเข้าใจความเหมือน-ความต่าง ไม่ตีตรา พร้อมที่จะยอมรับและชื่นชมสิ่งที่ต่างจากตนเอง เคารพสิทธิผู้ที่แตกต่างและนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและให้เกียรติวัฒนธรรมของกันและกัน (5 ICE core content) นอกจากนี้ในส่วนของชุมชนที่มีนักเรียนชาวเลอูรักลาโวยจ จะส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาอูรักลาโวยจและภาษาไทย) เริ่มจากการพัฒนาระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจและระดมความร่วมมือกับชาวเลอูรักลาโวยจในการบันทึกเรื่องราว ตำนาน นิทาน ประเพณี พิธีกรรมและทักษะชีวิตของชาวเลอูรักลาโวยจเพื่อรักษาและสืบสานวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่อยู่กับท้องทะเล โดยบูรณาการองค์ความรู้เหล่านี้เข้าสู่การพัฒนาหลักสูตร แผนการเรียนรู้และสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา (MTB-MLE) ประกอบด้วยหน่วยการเรียนรู้ 18 หน่วย สื่อการเรียนรู้ 7 ประเภท ได้แก่ฉากภาพวัฒนธรรมจำนวน 14 ฉาก นิทานภาพ 31 เรื่อง หนังสือนิทานเล่มยักษ์ 46 เรื่อง หนังสือนิทานเล่มเล็ก 42 เรื่อง เพลงภาษาอูรักลาโวยจ 13 เพลง เรื่องเล่าอูรักลาโวยจ 18 เรื่อง เกมการศึกษา 5 ชุด สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัย นอกจากนี้ยังได้พัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (ICE) จำนวน 2 หลักสูตรสำหรับระดับประถมศึกษา (20 แผน) และมัธยมศึกษา (23 แผน) ประกอบใบความรู้ภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้พร้อมปราชญ์ชุมชนที่เข้ามาร่วมถ่ายทอดความรู้ในทุกชุมชน และสื่อการเรียนรู้จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ ปฏิทินวัฒนธรรม 3 ชุด บัตรภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น 248 ภาพ นิทานภาพ 7 เรื่อง หนังสือเล่มยักษ์ 1 เรื่อง เกมการศึกษา 5 เกม และแผนที่เกาะลันตา 2 ชุด โดยหลักสูตร ICE ได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนทำให้นักเรียนเกิดมีพฤติกรรมสนใจในความเป็นมาและรู้จักแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชุมชนตนเองมากขึ้น และมีความสนใจเรียนรู้กลุ่มวัฒนธรรมอื่นมากขึ้น นักเรียนชั้นอื่นที่ไม่ได้เรียนรู้แสดงความต้องการที่จะเรียน ICE อย่างเห็นได้ชัด และผู้ปกครองในชุมชนตอบรับสนใจและต้องการเข้าร่วมกิจกรรมกับบุตรหลานของตน.

นอกจากผลงานด้านการจัดการศึกษาแล้ว ทางโครงการยังได้พัฒนากลไกความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา (MTB-MLE) และการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (ICE) ในพื้นที่เกาะลันตาในรูปแบบคณะกรรมการดำเนินงานในพื้นที่และคณะกรรรมการอำนวยการเพื่อสนับสนุน ติดตาม ให้ข้อเสนอแนะ และขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่ใช้ต้นทุนทางภาษา วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มวัฒนธรรมในพื้นที่เกาะลันตาให้เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน

สื่อเสริมสร้างการเรียนรู้

แผน 1

การพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (ICE)

แผน 2

การพัฒนาทักษะภาษาไทย

แผน 3

การพัฒนาและขยายผลการสอนภาษาอูรักลาโวยจ

นิทานสองภาษา

นิทานแปลภาษาอูรักลาโวยจ