สื่อเขมรถิ่นไทย
หนังสือเล่มเล็กเป็นหนังสือประเภทหนึ่งของเอกสารประกอบการสอนเพื่อพัฒนาการอ่าน-เขียนของผู้เรียน ซึ่งเนื้อหาและภาษาที่ใช้ในหนังสือล้วนเป็นภาษาและองค์ความรู้ในท้องถิ่น เพื่อให้เข้าใจในเรื่องและเชื่อมโยงไปสู่ความเข้าใจในอักษรที่ใช้สื่อความหมายของเรื่อง หนังสือเล่มเล็กนี้ควรที่จะจัดทำเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เยาวชนหรือผู้เริ่มต้นในการเรียนอ่านและเขียนใช้ฝึกอ่านด้วยตัวเอง
เป้าหมายและจุดประสงค์
- เพื่อให้นักเรียนเห็นความเป็นต้นแบบการสอนของครู
- เพื่อเน้นกระบวนการอ่านร่วมกัน
- เพื่อให้นักเรียนรู้จักการคาดเดาเรื่องและคำ
- เพื่อให้นักเรียนเกิดความคุ้นเคยกับคำ
- เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ความหมายของภาพ
- เพื่อให้นักเรียนรู้จักการจินตนาการเรื่องเล่า
วิธีการจัดกิจกรรมโดยใช้หนังสือเล่มเล็ก
- ครูแนะนำเรื่องที่จะอ่านในวันนี้ โดยให้เด็กดูภาพหน้าปกและสนทนาเกี่ยวกับภาพหน้าปก พร้อมทั้งถามเด็กเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะอ่าน
- ครูให้เด็กดูภาพและพูดคุยเกี่ยวกับภาพ หลังจากนั้นครูก็อ่านเรื่องให้นักเรียนฟังทีละหน้า
- ครูอ่านเรื่องทั้งหมดอีกครั้ง โดยไม่ต้องให้เด็กพูดเกี่ยวกับรูปภาพ
- หลังจากที่ครูอ่านเรื่องจบแล้ว ครูให้เด็กเล่าเรื่องกลับโดยใช้ภาษาตามความเข้าใจของตนหรือครูตั้งคำถาม เช่น ชอบเรื่องนี้หรือไม่? ทำไม? เป็นต้น
- ครูอ่านเรื่องพร้อมเด็ก/อ่านพร้อมอาสาสมัคร
- ครูสุ่มเลือกให้เด็กออกมาอ่านเอง (โดยให้เด็กเลือกอ่านหน้าใดก็ได้)
- ครูอ่านพร้อมนักเรียนทั้งห้อง
- ครูให้เด็กคิดเรื่องที่เกี่ยวกับหน่วยการเรียนรู้ (Theme) หรือใกล้เคียงกับเรื่องที่ครูเล่า
- ครูแจกกระดาษให้เด็ก
- ครูให้เด็กเขียนเรื่องราวของตนลงในกระดาษ ซึ่งเด็กสามารถเขียนเป็นตัวหนังสือหรือรูปตามจินตนาการของตนก็ได้
- ครูแบ่งกลุ่มเด็ก แล้วให้เด็กเล่าเรื่องของตนให้เพื่อนๆ ในกลุ่มฟัง
- ครูให้เด็กออกมาเล่าเรื่องของตนหน้าชั้น (ถ้ามีเวลา)