ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชุมชนเป็นประเด็นที่หลายกลุ่มชาติพันธุ์ให้ความสนใจเนื่องจากเป็นเรื่องราวของบรรพบุรุษ อีกทั้งยังเป็นความทรงจำถูกบอกเล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันแต่ยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากที่มีระบบตัวเขียนแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเลือกที่จะบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยภาษาของตนเองเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่เคยได้ยินได้ฟังจากปู่ย่าตายายให้เป็นบันทึกที่ลูกหลานรุ่นต่อไปสามารถอ่านได้ ในขณะที่บางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มพหุภาษา-วัฒนธรรมก็เลือกบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาราชการของประเทศเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนทุกกลุ่มที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน

ประวัติศาสตร์บอกเล่า-ชาวอูรักลาโวยจ

ชาวอูรักลาโวยจ บ้านสังกาอู้ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้เล่าขานเรื่องราวบรรพบุรุษของตนเองผ่านบทเพลง ลงปง ที่ใช้ในพิธีลอยเรือไว้ว่า ชาวอูรักลาโวยจเร่ร่อนมาจากกูนุงเยอรัย มาถึงทะเลอันดามัน มาหยุดจอดที่เกาะกฺาจี และย้ายอีกครั้งมาที่หาดราชา เกาะรัง ใกล้กับจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน จากนั้นได้ย้ายออกมาอีกครั้ง ลอยเรือมาเรื่อยจนถึงหาดปูเตะ เกาะลันตาในปัจจุบันนี้

 

ชาวอูรักลาโวยจอยู่หาดปูเตะได้ไม่นานก็มีชาวบ้านเริ่มล้มป่วยลง คนแก่สองคนในหมู่บ้านชื่อ เจะซีนัย กับ เจะเจดนา นั่งคิดว่าว่าจะทำอย่างไรดีให้คนในหมู่บ้านหายป่วย นึกอย่างไรก็ไม่รู้จึงพากันไปบนเขา หาไม้ตีนเป็ดและไม้กำ (ระกำ) มาต่อเรือ ในขนาดที่คนสองคนแบกกันได้ เมื่อต่อเรือเสร็จแล้วจึงนำเรือลงมายังหมู่บ้านและชักชวนชาวบ้านมาทำพิธีและร่วมสนุกกัน ให้ชาวบ้านนำข้าวสารและเครื่องครัวมาใส่ รวมทั้งสิ่งไม่ดีมาใส่ในเรือ เพื่อฝากของเหล่านี้ไปกับบรรพบุรุษที่ไปกับเรือไปให้ถึงกูนุงเยอรัย อันเป็นที่ที่ชาวอูรักลาโวยจจากมา เมื่อทำพิธีแล้ว ชาวบ้านก็เริ่มดีขึ้น ชาวอูรักลาโวยจจึงจัดพิธีลอยเรือขึ้นปีละสองครั้งในทุกปี ได้แก่ เดือน 6 และเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ (ปัจจุบัน เดือน 6 และเดือน 11 ขึ้น 13 ค่ำ) ชาวบ้านสังกาอู้จึงยึดเป็นประเพณีปฏิบัตินับตั้งแต่นั้นมา

ชาวบ้านอยู่ที่หาดปูเตะต่อมาได้อีกไม่นานก็ต้องย้ายอีกเพราะมีคนจีนเข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้น ชาวอูรักลาโวยจพูดไทยไม่เป็นจึงกลัวและพากันย้ายอีกครั้งมาที่หาดศรีรายา และเข้าไปอยู่อาศัยที่บ้านหัวแหลม แต่ในที่สุดก็ต้องลงเรือย้ายถิ่นฐานกันอีกครั้งจนมาถึงหาดสังกาอู้ ซึ่งอยู่ท้ายสุดของเกาะลันตา และตั้งถิ่นฐานถาวรมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

  1. จันทราพันธ์ ทะเลลึก และคณะ. (2555). อารี ปาจัก. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต.
  2. ทีมวิจัยชุมชนชาวอูรักลาโวยจ บ้านสังกาอู้. (2561). แมะฮ กาลา อูรักลาโวยจ (มารู้จัก อูรักลาโวยจ). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต.