งานวิจัย
เนื่องจากในปัจจุบัน ภาษาต่าง ๆ ในโลกอยู่ในภาวะวิกฤต การถดถอยและการตายของภาษากำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรง นักภาษาศาสตร์ เช่น ไมเคิล เคราซ (1992) คาดคะเนว่า หากไม่มีการดำเนินการอย่างใด ร้อยละ 60-90 ของภาษาต่าง ๆ ในโลกประมาณ 7,000 ภาษา จะสูญสิ้นไปภายในศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งหมายความว่า องค์ความรู้จากกลุ่มชนต่าง ๆ จะสูญสิ้นไปด้วย
ในการรักษามรดกของมนุษยชาติไว้ให้ชนรุ่นหลัง ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อการกู้วิกฤตดังกล่าว รวมทั้งจัดให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสาธารณชน 4 ประการ
- การศึกษา บันทึก และสร้างคลังข้อมูลด้านภาษาและวัฒนธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยนักวิชาการด้านภาษาและวัฒนธรรม และเจ้าของภาษา
- การฟื้นฟูและพัฒนาภาษาโดยความร่วมมือระหว่างชุมชนเจ้าของภาษาและนักวิชาการ โดยมีเจ้าของภาษาเป็นศูนย์กลาง เช่น การสร้างเครื่องมือในการจดบันทึกหรือระบบเขียนแก่ภาษาต่าง ๆ ที่ส่วนมากไม่มีตัวเขียนมาก่อน จัดทำพจนานุกรม บันทึกรวบรวมความรู้จากปราชญ์ท้องถิ่น หรือสร้างวรรณกรรมท้องถิ่น ทั้งเรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน เพลง กลอน คำสอนต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน งานหัตถกรรม พิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น การดำเนินการใช้ตามแนวคิดของ มหิดลโมเดล ซึ่งสรุปจากผลการดำเนินการร่วมกันระหว่างชุมชนและนักวิชาการในเวลากว่า 10 ปี
- การจัดการศึกษาโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมของผู้เรียนเป็นฐาน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักการศึกษาและนักวิชาการทางภาษา-วัฒนธรรม มีการจัดการศึกษาที่ใช้ภาษาแม่เป็นฐาน เป็นรายวิชา และการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาที่ใช้ภาษาแม่เป็นฐานแก่เยาวชนที่มีภาษาต่างจากภาษาที่ใช้เป็นสื่อในโรงเรียน รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นภาษาที่สองแก่เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศและบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ
- การผลักดันนโยบายภาษาแห่งชาติ ที่สนับสนุนการใช้ภาษาท้องถิ่นในชีวิตประจำวันและในการศึกษาควบคู่ไปกับภาษาประจำชาติและภาษานานาชาติ และนโยบายภาษาที่ใช้ในการศึกษาโดยเฉพาะในระดับประถมวัยและประถมศึกษา โดยร่วมงานกับราชบัณฑิตยสภา และกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลัก และมีการวิจัยเชิงปริมาณและวิจัยเชิงปฏิบัติการตามความเหมาะสมของลักษณะงาน ในการทำงานกับชุมชนได้นำวิธีการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งมีชุมชนเป็นศูนย์กลางการดำเนินการมาใช้เป็นพื้นฐาน
การบันทึก-รวบรวมภาษา
กลุ่มนักภาษาศาสตร์ในศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สังกัดของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มีภารกิจในการศึกษาวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต เพื่อบันทึกองค์ความรู้ไว้ให้มากที่สุด รวมถึงการให้คำปรึกษาและการสนับสนุนด้านวิชาการแก่ชุมชนเจ้าของภาษาที่มีการถดถอยของการใช้ภาษา ทำให้เกิดวิกฤตด้านอัตลักษณ์วัฒนธรรมและภาษาอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญหายไป ...
การฟื้นฟูภาษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการดำเนินงานร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ผ่านรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวคือ มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนให้สามารถฟื้นฟูภาษา ฯ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีความสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน ...
การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา
เป็นนวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบคิดและสติปัญญา เพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมภาษาแม่ที่เน้นการอ่านออก-เขียนได้ รวมทั้งช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ของเด็กในพื้นที่ได้ โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา (ภาษาไทย-ภาษามลายู) เริ่มต้นดำเนินการในโรงเรียนของรัฐบาลในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล โดยใช้ภาษามลายูปาตานีเป็นฐานของการเรียนรู้ของเด็กและใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน ...
โครงการวิจัย
- โครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย – มลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
- โครงการวิจัย “การศึกษาความรู้ชาวชองเรื่องพืชคลุ้ม-คล้า (รุ่นทาก-รุ่นเชอ) โดยใช้ภาษาชองเป็นแนวทางในการศึกษา”
- โครงการวิจัย “การสร้างหลักสูตรท้องถิ่นภาษาชอง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ต.คลองพลู และต.ตะเคียนทอง กิ่งอ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี”