องค์ความรู้ท้องถิ่น
องค์ความรู้ท้องถิ่น หมายถึง องค์ความรู้ วิธีการ ทักษะ ความเชื่อ แนวปฏิบัติและการแสดงออกที่ได้สั่งสมกันมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ทั้งนี้ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีการบันทึกและรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการฟื้นฟูภาษาฯ ในรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์จำเป็นต้องมีระบบเขียนภาษาท้องถิ่น อักษรไทย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบันทึกภาษาและองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง และมีทีมพี่เลี้ยงคอยออกแบบกระบวนการ ติดตาม หนุนเสริมกระบวนการบันทึกและรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างใกล้ชิด
โดยเรื่องที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ได้บันทึกนั้น เกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ ลักษณะที่หนึ่ง เป็นเรื่องที่ชุมชนเห็นว่ามีความสำคัญและกำลังจะสูญหายไป เช่น การบันทึกเรื่องบทกวีเลอซอมแ’ล ในกลุ่มเลอเวือะ ซึ่งถือเป็นบทกวีที่แฝงไปด้วยคำสอนในการดำรงชีวิตของชาวเลอเวือะได้อย่างงดงาม ลักษณะที่สอง เป็นเรื่องที่ทีมพี่เลี้ยงได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง และเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การบันทึกเรื่องลอยเรือ ของชาวอูรักลาโวยจ ซึ่งทีมพี่เลี้ยงได้ลงพื้นที่และได้สังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในพิธีกรรมลอยเรือ หรือ การบันทึกเรื่องชื่อเรียกและความหมายของแผนที่หมู่เกาะสุรินทร์ของชาวมอแกน ซึ่งเกิดจากการจัดกิจกรรมทำแผนที่ชุมชนและแผนที่ทะเลในหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นต้น