มาตรฐานการคุ้มครองเด็ก
การคุ้มครองเด็ก (Child Safeguarding) หมายถึง การดำเนินงานของหน่วยงานหรือองค์กรใดก็ตาม ที่มีการติดต่อหรือจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก รวมไปถึงการจัดให้มีมาตรการเชิงรุกเพื่อสร้างหลักประกันว่าเด็กจะไม่ได้รับอันตรายจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องรับรองว่า เจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานและกิจกรรมในโครงการต่าง ๆ จะไม่เป็นบุคคลที่เป็นอันตรายต่อเด็ก อันได้แก่ เจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานจะไม่ทำให้เด็กเสี่ยงอันตราย มีข้อกังวล หรือการทารุณกรรมที่มีผลกระทบต่อร่างกายและอารมณ์ หากหน่วยงานมีข้อกังวลใด ๆ หรือได้รับรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กในชุมชนที่กำลังดำเนินงานอยู่ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยทันที
นโยบายการคุ้มครองเด็กของ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) [1] มีมาตรฐานการคุ้มครองเด็กตามแนวทางของ Keeping Children Safe อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ปี 2532 รวมถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วย การกำกับดูแลงานวิจัยในมนุษย์ พ.ศ. 2559 โดย RILCA มีความเชื่อขั้นพื้นฐานว่าด้วย เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากอันตราย การละเมิด การละเลย และการแสวงหาประโยชน์ โดย "เด็ก" หมายถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และเด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับการคุ้มครองโดยปราศจากการแบ่งแยกหรืออคติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุ เพศ อัตลักษณ์ทางเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ความสามารถ ความเชื่อทางศาสนา หรือมิติอื่นใดในวัฒนธรรมของพวกเขา นโยบายการคุ้มครองเด็กนี้มีผลบังคับใช้กับบุคคลทุกคนที่ทำงานให้กับ RILCA หรือปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของ RILCA ในทุกบทบาทหน้าที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ผู้บริหาร อาจารย์ นักวิจัย อาสาสมัคร ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย
มาตรฐานการคุ้มครองเด็ก ภายใต้การดูแลของ RILCA จะสร้างหลักประกันว่า เด็กและเยาวชนทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย ไม่มีบุคคลใดสามารถทำร้ายทั้งทางกายและจิตใจ รวมทั้งเด็กและเยาวชนสามารถบอกความต้องการและเรียกร้องได้โดยปราศจากความกลัวและกังวลใจ โดยที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยมีจรรยาบรรณในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน และข้อห้ามในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ข้อ 1 ห้าม ทุบตีหรือทำให้เด็กและเยาวชนเจ็บปวด
ข้อ 2 ห้าม จับหรือสัมผัสในรูปแบบที่เด็กและเยาวชนไม่ชอบ
ข้อ 3 ห้าม ทำให้รู้สึกเสียใจหรือเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ข้อ 4 ห้าม ให้เด็กและเยาวชนทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบ หรือที่ไม่ต้องการ
ข้อ 5 ห้าม บันทึกภาพที่เด็กและเยาวชนไม่ชอบ และไม่ต้องการให้ถ่าย
หากเด็กหรือเยาวชน ได้รับการกระทำที่ไม่ถูกต้องหรือพบเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องทั้งทางกายและวาจา ตามข้อห้ามดังกล่าว สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต (ภายใต้การดำเนินการของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย - RILCA) และมูลนิธิบ้านเด็กเพซตาล็อตซี่ ตามที่อยู่ด้านล่าง
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ +66 2 800 2308 – 14 ต่อ 3217
อีเมล langrevival.th@gmail.com
มูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพซตาล็อตซี่ ประเทศไทย
โทรศัพท์ +66 62 312 3434
อีเมล safechildren@pestalozzi.ch
[1] RILCA Mahidol University: Child Safeguarding Policy and Procedures 2023