เรื่องเล่าท้องถิ่น

เรื่องเล่าท้องถิ่นมีลักษณะเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของนักเรียน หรือเป็นเรื่องราวที่นักเรียนคุ้นชินหรือเคยได้ฟังอยู่บ่อยๆ โดยที่เรื่องเล่าดังกล่าวจะต้องมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต การละเล่นท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น เป็นต้น

การเขียนเรื่องเล่าท้องถิ่น ควรเป็นเรื่องเล่าที่สนุกสนาน เหมาะกับวัยเด็ก จึงต้องตั้งเป้าก่อนว่าจะเขียนให้เด็กวัยไหน ตัวละครอาจเป็นคน หรือสัตว์ที่เด็กคุ้นเคย และเกิดเหตุการณ์ที่ตื่นเต้น แต่สามารถคาดเดาได้ ไม่ควรยาวจนเกินไป สำหรับเด็กอนุบาล ประมาณครึ่งหน้ากระดาษเอ 4 เนื้อเรื่องควรเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์  อาจจะสอดแทรกเรื่อง คุณธรรม จริยธรรมได้ ไม่ควรเป็นข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะจะทำให้น่าเบื่อ

เป้าหมายและจุดประสงค์

  1. ให้เด็กเข้าใจและเห็นว่า จากตัวอักษรบนแผ่นกระดาษสามารถเล่าเป็นเรื่องราวได้
  2. ฝึกทักษะการฟังและการจับใจความสำคัญ หรือเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ได้
  3. ฝึกให้เด็กคิดและทำความเข้าใจให้คล้อยตามเนื้อเรื่อง รวมถึงการคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า

วิธีการจัดกิจกรรม

  1. ครูกล่าวถึงหน่วยการเรียนรู้ประจำสัปดาห์และเชื่อมโยงสู่เรื่องเล่า
  2. อ่านเรื่องเล่าขนาดสั้นให้นักเรียนฟังอย่างน่าสนใจ
  3. ในขณะที่อ่าน หยุด 3 – 4 ครั้ง เพื่อถามนักเรียนว่าคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรต่อไป
  4. หลังจากที่อ่านเรื่องจบแล้ว ให้นักเรียนเล่าเรื่องหรือบางส่วนของเรื่องโดยใช้คำพูดของตนเอง (ไม่ต้องเหมือนกับคำที่ครูอ่าน)