โครงการ“การจัดการศึกษาแบบทวิ - พหุภาษา

และการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่”

Mother Tongue-Based Multilingual and Intercultural Education Project

in Koh Lanta (MTB-MLE & ICE)

ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤตสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการพัฒนาภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบทวิ-พหุภาษา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมายาวนานเกือบ 20 ปี จึงได้ดำเนินงานในโครงการ“การจัดการศึกษาแบบทวิ - พหุภาษา และการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่” ตั้งแต่ปี 2562-2565 โดยได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพซตาล๊อตซี่ (Pestalozzi Children’sFoundation: PCF) โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เด็กและเยาวชนทุกคนในเกาะลันตา (เด็กไทย-พุทธ, เด็กไทย-จีน, เด็กไทย-มุสลิม, เด็กชาวอูรักลาโวยจ) ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพโดยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กชาวอูรักลาโวยจ ได้เข้าถึงองค์ความรู้ทางภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง และการสร้างกลไกความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

โครงการนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และหลากกลุ่มวัฒนธรรมในเกาะลันตา โดยบูรณาการต้นทุนทางภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสภาพแวดล้อมของกลุ่มต่างๆ ให้เกิดเป็นหลักสูตรและแผนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ จำนวน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) รูปแบบการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา (MTB MLE) โดยใช้ภาษาอูรักลาโวยจและภาษาไทยเป็นสื่อในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนระดับปฐมวัย (อนุบาล) และ (2) รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา (ICE) สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-6) ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) ในโรงเรียนทั้ง 14 แห่งของเกาะลันตา ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการศึกษา ตั้งแต่ตัวแทนชุมชนกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ผู้นำศาสนา ผู้บริหารโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด หน่วยงานอุดมศึกษาในพื้นที่ และกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนรูปแบบการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาและการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตาให้ดำเนินการในระบบโรงเรียนและเกิดความยั่งยืน เพื่อให้เด็กและเยาวชนในเกาะลันตาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจากต้นทุนทางภาษา วัฒนธรรม องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเต็มศักยภาพ นำไปสู่การเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างเคารพและให้เกียรติในสังคมที่มีความหลากหลายทางภาษา-วัฒนธรรมทั้งในพื้นที่เกาะลันตาและระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับแผนการศึกษาชาติ (พ.ศ. 2560-2579) ที่ยึดหลักสําคัญในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) หลักการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) และหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนสากลขององค์การยูเนสโกในเป้าหมายด้านการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียม (SDG4) และการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน (SDG17).

 

 

โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล สถานศึกษา 14 แห่งในพื้นที่เกาะลันตา และได้รับการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นทั้ง 9 หมู่บ้าน 3 ตำบล 1 เทศบาลผ่านกระบวนการทำงานที่ส่งเสริมความตระหนักให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย (Intercultural Education training workshop) การระดมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของแต่ละชุมชนเพื่อให้เห็นการก่อร่างสร้างตัวเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตนเอง (Historical timeline) และการบันทึก/คัดเลือกข้อมูลวัฒนธรรม ปราชญ์ท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญาที่โดดเด่นของแต่ละชุมชน (Cultural calendar) เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ในการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนที่พื้นที่โรงเรียนทั้ง 14 แห่งในเกาะลันตา เพื่อให้นักเรียนทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีทักษะในการเรียนรู้กลุ่มคนที่มีภาษา วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การเข้าใจความเหมือน-ความต่าง ไม่ตีตรา พร้อมที่จะยอมรับและชื่นชมสิ่งที่ต่างจากตนเอง เคารพสิทธิผู้ที่แตกต่างและนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและให้เกียรติวัฒนธรรมของกันและกัน (5 ICE core content) นอกจากนี้ในส่วนของชุมชนที่มีนักเรียนชาวเลอูรักลาโวยจ จะส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาอูรักลาโวยจและภาษาไทย) เริ่มจากการพัฒนาระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจและระดมความร่วมมือกับชาวเลอูรักลาโวยจในการบันทึกเรื่องราว ตำนาน นิทาน ประเพณี พิธีกรรมและทักษะชีวิตของชาวเลอูรักลาโวยจเพื่อรักษาและสืบสานวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่อยู่กับท้องทะเล โดยบูรณาการองค์ความรู้เหล่านี้เข้าสู่การพัฒนาหลักสูตร แผนการเรียนรู้และสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา (MTB MLE) ประกอบด้วยหน่วยการเรียนรู้ 18 หน่วย สื่อการเรียนรู้ 7 ประเภท ได้แก่ฉากภาพวัฒนธรรมจำนวน 14 ฉาก นิทานภาพ 31 เรื่อง หนังสือนิทานเล่มยักษ์ 46 เรื่อง หนังสือนิทานเล่มเล็ก 42 เรื่อง เพลงภาษาอูรักลาโวยจ 13 เพลง เรื่องเล่าอูรักลาโวยจ 18 เรื่อง เกมการศึกษา 5 ชุด สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัย นอกจากนี้ยังได้พัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (ICE) จำนวน 2 หลักสูตรสำหรับระดับประถมศึกษา (20 แผน) และมัธยมศึกษา (23 แผน) ประกอบใบความรู้ภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้พร้อมปราชญ์ชุมชนที่เข้ามาร่วมถ่ายทอดความรู้ในทุกชุมชน และสื่อการเรียนรู้จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ ปฏิทินวัฒนธรรม 3 ชุด บัตรภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น 248 ภาพ นิทานภาพ 7 เรื่อง หนังสือเล่มยักษ์ 1 เรื่อง เกมการศึกษา 5 เกม และแผนที่เกาะลันตา 2 ชุด โดยหลักสูตร ICE ได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนทำให้นักเรียนเกิดมีพฤติกรรมสนใจในความเป็นมาและรู้จักแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชุมชนตนเองมากขึ้น และมีความสนใจเรียนรู้กลุ่มวัฒนธรรมอื่นมากขึ้น นักเรียนชั้นอื่นที่ไม่ได้เรียนรู้แสดงความต้องการที่จะเรียน ICE อย่างเห็นได้ชัด และผู้ปกครองในชุมชนตอบรับสนใจและต้องการเข้าร่วมกิจกรรมกับบุตรหลานของตน.

นอกจากผลงานด้านการจัดการศึกษาแล้ว ทางโครงการยังได้พัฒนากลไกความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาศึกษา (MTB MLE) และการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (ICE) ในพื้นที่เกาะลันตาในรูปแบบคณะกรรมการดำเนินงานในพื้นที่และคณะกรรรมการอำนวยการเพื่อสนับสนุน ติดตาม ให้ข้อเสนอแนะ และขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่ใช้ต้นทุนทางภาษา วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มวัฒนธรรมในพื้นที่เกาะลันตาให้เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน