'ปาตง
'ปาตง เป็นมุขปาฐะหรือบทกลอนประเภทร้อยกรองของชาวมลายูดั้งเดิมที่ไม่อาจแยกออกจากวิถีชีวิตของชาวมลายูได้ คำว่า 'ปาตง เป็นการออกเสียงตามภาษามลายูปาตานี ในภาษามาเลเซียจะออกเสียงเป็น ‘ปันตุน’ (pantun) เป็นอัตลักษณ์ของชาวมลายูมานับแต่อดีต 'ปาตง เปรียบเสมือนชีวิตจิตใจที่มีคุณค่ายิ่งของชาวมลายู อีกทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูก ระหว่างคนหนุ่มสาว หรือแม้แต่กระทั่งขุนนางในราชสำนัก
เนื้อหาของ 'ปาตง แฝงคติสอนใจ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าต่าง ๆ ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูปัจจุบัน ได้นำ 'ปาตง ไปใช้ในวิถีชีวิตของชาวมลายูอย่างกว้างขวาง ทั้งการเป็นเพลงกล่อมเด็ก การประกอบการละเล่นของเด็ก รวมทั้งการขับ'ปาตงเนื่องในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่นพิธีแต่งงาน พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีเข้าสุนัต หรือประกอบการแสดงอื่น ๆ
จากการศึกษาในด้านเนื้อหาของ 'ปาตง ในวัฒนธรรมชาวมลายูปาตานีพบว่า 'ปาตงเป็นบทกวีที่แฝงไปด้วยคติสอนใจ บรรจุไว้ซึ่งเรื่องราวของภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ ตลอดจนถึงเรื่องเล่าที่สำคัญของชุมชน 'ปาตง จึงเป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และปลูกฝังความเป็นมลายูได้เป็นอย่างดี เพราะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวมลายูตั้งแต่อยู่ในเปลจนกระทั่งเติบใหญ่
ตัวอย่าง'ปาตง
“บูรฺง ตียง ตือรฺือแบ ตีงี
ตีงี นา-อิ ตีกฺอ บาตู
กาลู อาเดะ เนาะ ซือแน ฮาตี
กือนอ ตูโรฺะ ปือกาตอแอ อีบู”
นกขุนทองโบยบินสูง
บินสูงไกลสามเท่า
หากน้องหวังสุขกายสบายใจ
จงเชื่อฟังคำสอนของมารดา”
'ปาตง บทนี้ได้เปรียบเปรย การประสบความสำเร็จในชีวิตว่าเป็นเสมือนความสูงในการบินของนก อีกทั้งยังมีเนื้อหาสั่งสอนให้มีความกตัญญูต่อมารดาด้วยการเชื่อฟังคำสอนของท่าน การประพฤติตนตามคำสั่งสอนของมารดาจะนำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนของศาสนาอิสลามที่ให้ความสำคัญต่อมารดาว่า “สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา” อันหมายความว่า คนหนึ่งจะได้ขึ้นสวรรค์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของมารดาที่มีต่อเขา
อ้างอิง
นาวาวี กาโฮง และคณะ. (2553). ศึกษาและรวบรวม'ปาตงและปราชญ์'ปาตงมลายูถิ่นปาตานีในจังหวัดปัตตานี. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย