ระบบเขียนภาษากลุ่มชาติพันธุ์ด้วยอักษรไทย
การจัดทำระบบเขียนอักษรไทย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เจ้าของภาษาใช้เป็นเครื่องมือในการจดบันทึกภูมิปัญญาทางด้านภาษาและวัฒนธรรม เนื่องจากภาษากลุ่มชาติพันธุ์หลายภาษาไม่มีระบบตัวเขียนมาก่อน การจัดทำระบบเขียนจะช่วยให้เจ้าของภาษาสามารถใช้บันทึกสิ่งที่ต้องการถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลานได้เป็นอย่างดี
ระบบเขียนอักษรไทยได้รับการพัฒนาขึ้นโดยผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นของเจ้าของภาษาที่ต้องการให้มีระบบตัวเขียนของตนเองเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา รวมไปถึงเจ้าของภาษาที่ต้องการให้มีการเรียนการสอนภาษาของตนเองในโรงเรียนท้องถิ่น เจ้าของภาษาจึงร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดลทดลองผลิตระบบตัวเขียนอักษรไทย มานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยมีระบบเขียนภาษาชองอักษรไทย เป็นภาษากลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มแรกที่เริ่มทดลองระบบนี้
ระบบเขียนอักษรไทยที่จัดทำขึ้นนี้สามารถนำไปใช้ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษากลุ่มชาติพันธุ์เป็นรายวิชาในโรงเรียนได้ อันจะทำให้นักเรียนในท้องถิ่นรักภาษาและวัฒนธรรมของตน มีความภูมิใจในภาษาท้องถิ่นและรักการอ่าน นอกจากนี้ผู้ที่สนใจเรียนรู้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ยังสามารถศึกษาภาษาต่าง ๆ จากระบบตัวเขียนอักษรไทยได้อีกด้วย
การพัฒนาระบบเขียนอักษรไทยแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1. การพิจารณากำหนดอักษร และ 2. ขั้นตอนการทดสอบระบบเขียน
- ขั้นตอนการพิจารณากำหนดอักษร
- ศึกษาระบบเสียง ที่ได้มีการศึกษาไว้แล้วและนักวิชาการรวบรวมคำศัพท์เป็นพจนานุกรม
- เลือกอักษรไทย ที่จะใช้แทนเสียงพยัญชนะ สระ และลักษณะน้ำเสียงหรือวรรณยุกต์ ในภาษานั้น โดยระบบตัวเขียนที่สร้างขึ้นต้องแสดงลักษณะของภาษาได้ อย่างน้อยต้องแสดงลักษณะหน่วยเสียงสำคัญของภาษาได้ครบ
- ระบบตัวเขียน ต้องมีลักษณะสม่ำเสมอ คงที่ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และเลือกเขียนตามถิ่นใดถิ่นหนึ่ง
- ระบบตัวเขียน ต้องใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ เพื่อสะดวกในการเผยแพร่
- ขั้นตอนการทดสอบระบบเขียน
- ทดสอบระบบเขียนในรูปแบบคำ ประโยค และข้อความที่เป็นเรื่องสั้น เช่น เจ้าของภาษาอ่านบัตรคำ จับคู่ภาพและบัตรคำ อ่านประโยคและอ่านข้อความสั้น ๆ แล้วตอบคำถาม
- จัดอบรมระบบเขียนและฝึกเขียนเรื่องสั้น เช่น การเขียนเรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน หมวดคำศัพท์ต่าง ๆ
- หลังจากนั้น ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม และจึงกำหนดเป็นระบบเขียนอักษรไทย
หลักเกณฑ์ในการกำหนดตัวเขียนภาษากลุ่มชาติพันธุ์อักษรไทยในแต่ละภาษาจะแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีหลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้ร่วมกัน ที่ยึดหลักวิชาการทางภาษาศาสตร์และได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของภาษา ดังนี้
- หนึ่งรูป แทน หนึ่งเสียง – อักษร 1 รูป ใช้แทน 1 เสียง ด้วยอักษรเดียวกันทุกตำแหน่ง
- ใช้อักษรกลางและอักษรต่ำเท่านั้น หากใช้อักษรสูงจะมีเสียงวรรณยุกต์เข้ามาเกี่ยวข้อง
- เสียงเหมือนภาษาไทยให้ใช้รูปเหมือนภาษาไทย โดยเลือกใช้อักษรที่ใช้บ่อยในภาษาไทย เช่น อักษร ท แทนเสียง [th] ไม่ใช้ ฑ ฒ ฐ
- เสียงที่แตกต่างจากภาษาไทย ใช้อักษรไทยที่ออกเสียงใกล้เคียงกัน
- สำหรับ ลักษณะน้ำเสียง เป็นลักษณะพิเศษในบางภาษา ให้ใช้รูปวรรณยุกต์ [ ่ ] เอก, [ ้ ] โท, [ ๊ ] ตรี และ [ ๋ ] จัตวา แทนลักษณะน้ำเสียง
- ภาษาชาติพันธุ์หลายภาษามีพยัญชนะสะกดต่างจากภาษาไทย เช่น /c/ ‘จ’ /h/ ‘ฮ’ หรือ /ɲ/ ‘ญ’ และในกรณีที่รูปสระของพยางค์เป็นสระเสียงสั้นที่มีการประวิสรรชนีย์ (ะ) เป็นส่วนประกอบ (-ะ, เ-ะ, เ-าะ, แ-ะ, โ-ะ) ให้เขียนลดรูปตามอักขรวิธีไทย เช่น จัฮ = ดาย (กริยา) หรือ กะแท็ฮ = ฟ้าผ่า
- ใช้เครื่องหมายวรรคตอนเพื่อความสะดวกในการอ่าน เช่น เว้นวรรคระหว่างคำใช้เครื่องหมาย . (มหัพภาค) เมื่อจบประโยค
ระบบเขียนภาษากลุ่มชาติพันธุ์อักษรไทยที่จัดทำขึ้นนี้ หากนำไปใช้ทำพจนานุกรม สื่อการสอนและแบบเรียนภาษาชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะทำให้นักเรียนที่มีเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างภูมิใจในภาษาของตน และยังสามารถเชื่อมโยงระหว่างการเรียนภาษาไทยกับภาษาของตนเองได้เป็นอย่างดีอีกด้วย