พันธกิจ

 

ด้านการพัฒนาองค์ความรู้

เพื่อศึกษาและบันทึกภาษาวัฒนธรรมที่อยู่ในภาวะวิกฤต

  • ร่วมทำงานกับชุมชนภาษาในภาวะวิกฤตต่างๆ ในประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • พัฒนาวิธีการบันทึกและเก็บรวบรวมภาษาในรูปสื่อดิจิตอล

 

ด้านการใช้ประโยชน์จากความรู้

เพื่อให้บริการวิชาการแก่ชุมชนภาษาในภาวะวิกฤต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและฟื้นฟูภาษา

  • ฝึกระบบตัวเขียนของภาษาในการพัฒนาระบบตัวเขียนในกลุ่มที่ไม่มีระบบตัวเขียนหรือพัฒนาระบบเขียนเพื่อเชื่อมโยงสู่ระบบอักษรดั้งเดิม
  • ในชุมชนหลายภาษา ส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาแม่ร่วมกับภาษาราชการในระบบการศึกษา

 

การเผยแพร่ความรู้

เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนเพื่อให้เกิดประโยชน์จากความรู้เกี่ยวกับภาษาในภาวะวิกฤตให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

  • เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาษาในภาวะวิกฤต และความหลากหลายทางด้านภาษาในประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์
  • ในชุมชนหลายภาษา ส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาแม่ร่วมกับภาษาราชการในระบบการศึกษา

ความเป็นมา

ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต (Resource Center for Documentation and Revitalization of Endangered Languages and Cultures) เกิดขึ้นจากการทำงานวิจัยและเงินทุนตั้งต้นจากมูลนิธิญี่ปุ่น (Japan Foundation) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษาและฟื้นฟูกลุ่มภาษาและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต และดำเนินงานภายใต้หลักคิดที่ว่า ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมีความเท่าเทียมกัน ความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่สมควรจะรักษาไว้ให้คนรุ่นลูกหลานสืบไป

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤตเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ มีหน้าที่เป็นศูนย์วิจัยและบริการวิชาการในโครงสร้างของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ภารกิจของศูนย์ฯ ในระยะเริ่มต้นเน้นการศึกษาและฟื้นฟูกลุ่มภาษาในประเทศไทยที่อยู่ในภาวะวิกฤตขั้นรุนแรงจำนวน 15 กลุ่ม ได้แก่ ชอง, กะซอง, ซัมเร, ชอุ้ง (ซะโอจ), มลาบรี, มานิ (ซาไก), ญัฮกุร, โซ่ (ทะวืง), ก๋อง (ละว้า), อึมปี้, บีซู, เลอเวือะ, มอแกน (มอเกล็น), อูรักลาโวยจ และแสก นับจนถึงปัจจุบันนี้ ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูฯ ได้ขยายการดำเนินงานทั้งเนื้อหา พื้นที่ของการศึกษา และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนางานด้านภาษาศาสตร์ประยุกต์ และสร้างความท้าทายในสหวิทยาการด้านการศึกษาและฟื้นฟูภาษาในภาวะวิกฤตระดับต่าง ๆ ในประเทศไทย

นอกเหนือจากงานด้านวิชาการ นักวิจัยของศูนย์ฯ ยังมีโอกาสฝึกอบรมคนในชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเก็บข้อมูลสร้างสรรค์และบันทึกวรรณกรรมท้องถิ่น รวมทั้งความรู้ท้องถิ่นด้านต่าง ๆ ของชุมชนด้วยตนเอง ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จชองกลุ่มชาติพันธุ์ชองญัฮกุรและโซ่ (ทะวืง) ที่ได้นำภาษาท้องถิ่นเข้าสู่โรงเรียนเป็นรายวิชาหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มภาษามลายูถิ่นได้ใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นสื่อการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนนำร่อง 4 แห่ง เป็นการริเริ่มนำหลักสูตรทวิภาษาเต็มรูปที่ใช้ภาษาแม่เป็นสื่อการเรียนการสอนมาใช้ในประเทศไทย ผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจในการใช้ภาษาท้องถิ่นในโรงเรียนนี่เอง เป็นสิ่งกระตุ้นให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ตื่นตัวและต้องการทำงานเช่นนี้ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

เป้าหมายและพันธกิจของศูนย์ฯ ในปัจจุบันจึงไม่ได้จำกัดเพียงการศึกษาและฟื้นฟูภาษาเท่านั้น และจุดมุ่งหมายระยะยาวอีกประการหนึ่งของศูนย์ฯ คือ การนำผลที่ได้จากการทำงานที่ผ่านมาไปสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาในระบบการศึกษาของประเทศไทย


administrative board

บุคลากร

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์

ประธานศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต

ดูรางวัลทั้งหมด

รางวัลสำหรับศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต และทีมวิจัยชุมชนที่ได้รับจากการดำเนินงานฟื้นฟูในพื้นที่

  • รางวัลที่ได้รับ ปี 2559

    รางวัล The UNESCO King Sejong Literacy Prize 2016 เนื่องในโอกาสวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ โดย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) จาก โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ: กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้” รางวัลโรงเรียนที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ระดับอำเภอ ด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น และได้รับคัดเลือกให้เป็น โรงเรียนที่มีแนวปฏิบัติที่ดีด้าน การอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มอบให้แก่ โรงเรียนบ้านกุดสะกอย รางวัลดีเด่น ด้านการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2559 โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มอบให้แก่ ชุมชนเขมรถิ่นไทยบ้านโพธิ์กอง รางวัลชนะเลิศเหรียญทองอันดับ 4 จากการแข่งขันท่องอาขยานทำนองเสนาะชั้น ป.1-ป.3 โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานีเขต 3 มอบให้แก่ ด.ญ.อิลฮัม สะนิ นักเรียนโครงการทวิภาษา

    อ่านเพิ่มเติม

  • รางวัลที่ได้รับ ปี 2558

    รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2558 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มอบให้แก่ ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัล “100 ปีชาตกาล หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก” ประจำปี พ.ศ.2558 ในด้านการศึกษาและสื่อมวลชน จาก มูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร มอบให้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ รางวัล “ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2558” จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบให้แก่ นางประชุมพร สังข์น้อย หัวหน้าโครงการฟื้นฟูภาษาเขมรถิ่นไทย รางวัล “นักวิจัยเพื่อท้องถิ่นดีเด่นประเด็นการฟื้นฟูภาษาในภาวะวิกฤต” เนื่องในวันภาษาแม่สากลประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ได้มอบให้กับนักวิจัยในพื้นที่ที่สนับสนุนการทำงานการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรม สาขา ได้แก่ 1. สาขาครูและผู้ถ่ายทอดความรู้ภาษาแม่ดีเด่น จำนวน 8 รางวัล 2.สาขาผู้ให้การสนับสนุนในการเรียนรู้ภาษาแม่ดีเด่น จำนวน 33 […]

    อ่านเพิ่มเติม

  • รางวัลที่ได้รับ ปี 2555

    รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี โดย สภาวิจัยแห่งชาติ จาก โครงการการจัดการศึกษาแบบทวิภาษาฯ (ไทย – มลายูถิ่น) สำหรับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รางวัลวิจัยเด่น ประจำปี 2555 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ชุดโครงการวิจัย “การฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมเขมรถิ่นไทย” รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ด้านการเล่านิทานพื้นบ้าน โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานีเขต 2 มอบให้แก่ ด.ญ.นูรซาฮีดา แวหะยี นักเรียนทวิภาษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

    อ่านเพิ่มเติม

  • รางวัลที่ได้รับ ปี 2554

    รางวัลยอดครูผู้มีอุดมการณ์ ประจำปี 2554 โดย สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มอบให้แก่ ครูศิริพร หมั่นงาน หัวหน้าโครงการวิจัยการแก้ไขปัญหาเด็กที่มีความยุ่งยากทางการเรียนรู้ด้วยภาษาญัฮกุร รางวัล “หมู่บ้านมั่งมีศรีสุขแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ในระดับอำเภอปราสาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในระดับจังหวัดสุรินทร์ โดยกระทรวงมหาดไทย มอบให้แก่ หมู่บ้านเขมรถิ่นไทยบ้านโพธิ์กอง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ รางวัลชนะเลิศการแข่งขันเล่านิทานประกอบสื่อระดับปฐมวัย ในงานมหกรรมชบาเบ่งบาน โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานีเขต 2 รางวัลชนะเลิศการแข่งขันเล่านิทานประกอบสื่อระดับปฐมวัยในมหกรรมทักษะวิชาการ จังหวัดสตูล โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล และ รางวัลชนะเลิศการแข่งขันเล่านิทานประกอบสื่อระดับปฐมวัย โดย สำนักงานเขตตรวจราชการที่ 12 จังหวัดยะลา มอบให้แก่ ด.ช.วันชารีฟ แวหะยี นักเรียนทวิภาษาชั้นอนุบาล 2

    อ่านเพิ่มเติม

  • รางวัลที่ได้รับ ปี 2553

    รางวัลวิจัยเด่นด้านวิจัยและพัฒนาประจำปี 2553 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จาก โครงการ “การจัดการศึกษาแบบทวิภาษาฯ (ไทย – มลายูถิ่น) สำหรับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” รางวัลผู้นำเสนอผลงานวิจัยดีเด่น จากการนำเสนอผลการดำเนินงาน โครงการวิจัย “การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาในกลุ่มที่ภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต” ของ ดร.มยุรี ถาวรพัฒน์ ในการประชุมวิชาการระดับชาติโดย เรื่อง “สหวิทยาการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” จัดโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

    อ่านเพิ่มเติม

  • รางวัลที่ได้รับ ปี 2551

    รางวัล “ผู้ชนะเลิศด้านปฏิบัติการภาษาในภาวะวิกฤต (Winner of the Endanger language Award 2008) โดย Comité International Permanent des Linguistes มอบให้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์

    อ่านเพิ่มเติม

  • รางวัลที่ได้รับ ปี 2549

    รางวัล “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา” โดย สภาวิจัยแห่งชาติ มอบให้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์

    อ่านเพิ่มเติม

  • รางวัลที่ได้รับ ปี 2547

    รางวัลโครงการวิจัยเด่นประจำปี 2547 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จากโครงการ “การอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง”

    อ่านเพิ่มเติม