ความเป็นมา
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต (Resource Center for Documentation and Revitalization of Endangered Languages and Cultures) เกิดขึ้นจากการทำงานวิจัยและเงินทุนตั้งต้นจากมูลนิธิญี่ปุ่น (Japan Foundation) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษาและฟื้นฟูกลุ่มภาษาและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต และดำเนินงานภายใต้หลักคิดที่ว่า ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมีความเท่าเทียมกัน ความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่สมควรจะรักษาไว้ให้คนรุ่นลูกหลานสืบไป
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤตเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ มีหน้าที่เป็นศูนย์วิจัยและบริการวิชาการในโครงสร้างของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
ภารกิจของศูนย์ฯ ในระยะเริ่มต้นเน้นการศึกษาและฟื้นฟูกลุ่มภาษาในประเทศไทยที่อยู่ในภาวะวิกฤตขั้นรุนแรงจำนวน 15 กลุ่ม ได้แก่ ชอง, กะซอง, ซัมเร, ชอุ้ง (ซะโอจ), มลาบรี, มานิ (ซาไก), ญัฮกุร, โซ่ (ทะวืง), ก๋อง (ละว้า), อึมปี้, บีซู, เลอเวือะ, มอแกน (มอเกล็น), อูรักลาโวยจ และแสก นับจนถึงปัจจุบันนี้ ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูฯ ได้ขยายการดำเนินงานทั้งเนื้อหา พื้นที่ของการศึกษา และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนางานด้านภาษาศาสตร์ประยุกต์ และสร้างความท้าทายในสหวิทยาการด้านการศึกษาและฟื้นฟูภาษาในภาวะวิกฤตระดับต่าง ๆ ในประเทศไทย
นอกเหนือจากงานด้านวิชาการ นักวิจัยของศูนย์ฯ ยังมีโอกาสฝึกอบรมคนในชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเก็บข้อมูลสร้างสรรค์และบันทึกวรรณกรรมท้องถิ่น รวมทั้งความรู้ท้องถิ่นด้านต่าง ๆ ของชุมชนด้วยตนเอง ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จชองกลุ่มชาติพันธุ์ชองญัฮกุรและโซ่ (ทะวืง) ที่ได้นำภาษาท้องถิ่นเข้าสู่โรงเรียนเป็นรายวิชาหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มภาษามลายูถิ่นได้ใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นสื่อการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนนำร่อง 4 แห่ง เป็นการริเริ่มนำหลักสูตรทวิภาษาเต็มรูปที่ใช้ภาษาแม่เป็นสื่อการเรียนการสอนมาใช้ในประเทศไทย ผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจในการใช้ภาษาท้องถิ่นในโรงเรียนนี่เอง เป็นสิ่งกระตุ้นให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ตื่นตัวและต้องการทำงานเช่นนี้ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน
เป้าหมายและพันธกิจของศูนย์ฯ ในปัจจุบันจึงไม่ได้จำกัดเพียงการศึกษาและฟื้นฟูภาษาเท่านั้น และจุดมุ่งหมายระยะยาวอีกประการหนึ่งของศูนย์ฯ คือ การนำผลที่ได้จากการทำงานที่ผ่านมาไปสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาในระบบการศึกษาของประเทศไทย