แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางแผ่นดินใหญ่เอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความร่ำรวยหลากหลายด้านภาษาชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ในจำนวนประชากรกว่า 65 ล้านคนนั้น มีภาษาพูดต่างๆ กันถึงกว่า 70 กลุ่มภาษา กระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศ ในขณะที่เอเชียอาคเนย์มีทั้งสิ้นกว่า 1,000 ภาษา และในระดับโลกมีถึง 7,000 ภาษา (สุวิไล เปรมศรีรัตน์, 2547)
ภาษาแสดงถึงความเป็นมนุษย์ ภาษาสะท้อนระบบวิธีคิด ระบบความรู้ของชนแต่ละกลุ่ม ภาษาจึงเป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชน จากการที่ภาษาเป็นกุญแจสำคัญของการสื่อสาร ภาษาจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษา เนื่องจากภาษาที่ผู้เรียนใช้ในครอบครัว ในชุมชนต่างๆ ซึ่งอาจเรียกว่าภาษาท้องถิ่นหรือภาษาแม่ของแต่ละกลุ่มอาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากภาษาของโรงเรียนซึ่งใช้ภาษาราชการ/ภาษาประจำชาติ และภาษาที่ใช้ในสื่อมวลชนและกิจกรรมที่เป็นทางการต่างๆ ซึ่งได้แก่ ภาษาไทยมาตรฐาน (ซึ่งพัฒนามาจากภาษาไทยภาคกลาง) ถ้าภาษาของชุมชนใดใกล้เคียงหรือเหมือนกับภาษาของโรงเรียน ผู้เรียนก็จะมีไม่มีปัญหาหรือมีปัญหาน้อย แต่ถ้าภาษาของโรงเรียนต่างจากภาษาของชุมชนของผู้เรียน ก็จะมีปัญหาในด้านความเข้าใจและการใช้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยในระดับต่างๆ กันไป
แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย แสดงจำนวนของภาษากว่า 70 ภาษาในตระกูลภาษา 5 ตระกูล ประกอบไปด้วย ตระกูลไท (Tai-Kadai Language Family) ตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic Language Family) ตระกูลออสโตรนีเชียน (Austronesian Language Family) ตระกูลจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan Language Family) และตระกูลม้ง-เมียน (Hmong-Mien Language Family) ที่กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ (สุวิไล เปรมศรีรัตน์, 2547)