กะซอง

กะซอง เป็นชื่อที่ผู้พูดเรียกภาษาของตัวเองและเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา สันนิษฐานว่ามีความหมายว่า “คน” ภาษากะซองเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร กลุ่มย่อยเดียวกันกับภาษาชองที่จังหวัดจันทบุรีและภาษาซัมเรที่จังหวัดตราด ผู้พูดกะซองมีถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เขตชายแดนติดต่อกับกัมพูชา ภาษานี้เดิมเป็นที่รู้จักของคนภายนอกว่า “ชองจังหวัดตราด (Chong of Trat)” ด้วยมีความคล้ายคลึงของชื่อและความใกล้เคียงของภาษา ทำให้เข้าใจว่าเป็นภาษาเดียวกัน ชาวกะซองเองบางคนก็เรียกตัวเองว่า คนชอง พูดชอง ด้วยเหมือนกัน

ชาวกะซองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านคลองแสง บ้านด่านชุมพล และจำนวนเล็กน้อยอยู่ที่บ้านปะเดา ในตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด พวกเขาอยู่กระจัดกระจายกันและปะปนกับคนไทยและคนกลุ่มอื่นๆ เช่น ลาวอีสาน จีน เขมร ที่เข้ามาตั้งรกรากทีหลัง บริเวณถิ่นที่อยู่เป็นที่ราบเชิงเขาและเนินเตี้ยๆ อาชีพที่ทำคือเกษตรกรรม อาทิ ปลูกยางพารา ทำไร่สับปะรด และสวนผลไม้ ทำนาเพื่อบริโภคในครัวเรือนและไว้ขายบ้าง นอกจากนี้ยังมีรายได้เสริมจากการเก็บของป่าในช่วงฤดูแล้ง ชาวกะซองมีการแต่งงานกับคนนอกกลุ่มจึงเกิดการผสมผสานระหว่างเชื้อสายและวัฒนธรรมตามแบบไทย ส่งผลให้ประเพณีดั้งเดิมหลายอย่างเลือนหาย ที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ตามแบบฉบับของกลุ่มเห็นจะมีพิธีการแต่งงาน การบูชาผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษ และประเพณีการเล่นผีแม่มดซึ่งมีการประกอบพิธีเชิญผีมาเข้าร่างทรงเพื่อช่วยให้คนป่วยหายเจ็บไข้ตามความเชื่อ แต่ไม่เคร่งครัดในการจัดแล้วและการเล่นผีแม่มดในหมู่บ้านกะซองปัจจุบันก็ไม่คึกคักเท่าของกลุ่มซัมเรที่มีประเพณีการเล่นนี้เช่นกัน

ผู้พูดภาษาในปัจจุบันเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังใช้ภาษากะซองสื่อสารได้ มีที่รู้ภาษาดีไม่เกิน 10 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้สูงอายุ และจำนวนลดลงเรื่อยๆ คนกะซองในวัยกลางคนจนถึงรุ่นเยาว์สื่อสารกันด้วยภาษาไทย แม้จะมีความเข้าใจในภาษาของตนอยู่บ้างแต่ไม่สามารถสื่อสารเป็นประโยคยาวๆ ได้ ลูกหลานไม่สนใจที่จะเรียนรู้ภาษาของตนจากพ่อแม่ ภาษากะซองในปัจจุบันนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤตร้ายแรง รวมถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่กำลังสูญไปตามกาลเวลาพร้อมกับคำศัพท์ในภาษา โดยเฉพาะที่เป็นความรู้เกี่ยวกับป่า พรรณพืช สมุนไพร อาหาร พิธีกรรมและความเชื่อที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตและประวัติของชุมชน

ในปีพ.ศ. 2544 ชาวกะซองได้มีความพยายามฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองโดยการสนับสนุนจากทีมวิจัย เริ่มจากการสร้างระบบตัวเขียนภาษากะซองด้วยตัวอักษรไทย ผลิตหนังสือนิทานภาษากะซองเพื่อเป็นคู่มือในการสอนภาษาและพยายามที่จะนำเข้าไปสอนในโรงเรียนของชุมชน รวมทั้งมีการสร้างแผนที่ชุมชนและแหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่กระนั้นภาษากะซองยังอยู่ในภาวะที่ไม่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากผู้สูงวัยที่เป็นแหล่งความรู้เริ่มล้มหายลง

ภาษากะซองมีพยัญชนะต้น ๒๑ หน่วยเสียง สระเดี่ยว 17 หน่วยเสียง สระประสมหน่วยเสียงเดียวคือ <อัว> และพยัญชนะท้าย 12 หน่วยเสียง โดยเฉพาะเสียงตัวสะกด <จ> <ญ> <ล> และ <ฮ> แสดงลักษณะของภาษากลุ่มมอญ-เขมร ภาษากะซองในปัจจุบันจัดว่ามีลักษณะน้ำเสียงแบบผสมผสาน นั่นคือใช้ลักษณะน้ำเสียงและระดับเสียงด้วยกันในการแยกความต่างของคำ นี้แตกต่างจากระบบเสียงภาษาชองและซัมเร ลักษณะน้ำเสียงแบบผสมผสานในภาษากะซองมี ๔ ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะน้ำเสียงปกติระดับเสียงกลาง (เช่น ปาง = ดอกไม้) ลักษณะน้ำเสียงปกติระดับเสียงกึ่งสูง-สูง-ตก (เช่น ช้อ = หมา) ลักษณะน้ำเสียงพ่นลมระดับเสียงกลาง-กึ่งสูง-ตก (เช่น จฺอ = เปรี้ยว) และลักษณะน้ำเสียงพ่นลมระดับเสียงกึ่งต่ำ (เช่น ป่าง = พรุ่งนี้) ทั้งนี้ภาษากะซองกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาษามีวรรณยุกต์จากอิทธิพลภาษาไทย ด้านการใช้ศัพท์ มีศัพท์เฉพาะ เช่น ระแนง = ปาก, ครัน = น่อง, คัด = กัด, ตัก = ใหญ่, มาล = ไร่ เป็นต้น การเพิ่มหน่วยคำเติมซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของภาษากลุ่มมอญ-เขมรยังพบในคำภาษากะซอง ตัวอย่างคู่คำที่เพิ่มหน่วยเติมหน้า เช่น คึน = ตัวเมีย กับ สำคึน = ผู้หญิง, ฮ้อบ = กิน(ข้าว) กับ นะฮ้อบ = ของกิน(อาหาร) เป็นต้น ทว่าลักษณะการสร้างคำเช่นนี้กำลังจะสูญหายไปพร้อมกับการเลิกใช้คำ

ในปัจจุบันทีมชาวบ้านที่คุ้นเคยกับการผลิตวรรณกรรมภาษากะซองร่วมกันทำการฟื้นฟูลมหายใจสุดท้ายของภาษาตนเอง มีแนวคิดในการสร้างเยาวชนที่พูดภาษากะซองได้ เริ่มด้วยการฝึกทักษะฟัง-พูดภาษากะซองอย่างเข้มข้นกับครูภูมิปัญญาในวันหยุด ด้วยความหวังว่าจะสามารถสร้างผู้พูดภาษากะซองรุ่นใหม่และกระตุ้นการเรียนรู้ภาษาของตนเองให้กับคนในชุมชน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ของบรรพบุรุษให้กับลูกหลานกะซองได้เพิ่มมากขึ้น

เรียบเรียง: สุวิไล เปรมศรีรัตน์, สุนี คำนวลศิลป์ และณัฐมน โรจนกุล
เอกสารอ้างอิง:
(1) สุวิไล เปรมศรีรัตน์, สุนี คำนวลศิลป์ และ ณัฐมน โรจนกุล. (2559). ภาษากะซอง. ใน ภาษา: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. หน้า 4-7. กรุงเทพฯ: สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์.
(2) สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และพรสวรรค์ พลอยแก้ว. (2548). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: กะซองและซัมเร. กรุงเทพฯ: เอกพิมพ์ไทย จำกัด.
(3) Sunee Kamnuansin. (2002). Kasong Syntax. M.A. thesis, Institute of Language and Culture for Rural Development, Mahidol University.

ข้อมูลเพิ่มเติม
• ระบบเขียนอักษรไทยภาษากะซอง (link)
• สื่อการเรียนการสอนภาษากะซอง