Projects

  • ภาษามอแกน

    ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า “มอแกน” มีความหมายว่าอย่างไร แต่จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่อาจสันนิษฐานได้ว่า คำว่า “มอแกน” มาจากนิทานพื้นบ้านที่มีการเล่าสืบทอดกันมา โดยน่าจะมาจากคำว่า “ละมอ” ซึ่งแปลว่า “จม” รวมกับคำว่า “เอาะเกน” ซึ่งแปลว่า “ทะเล” กลายเป็นคำว่า “มอแกน” คนทั่วไปรู้จักคนกลุ่มนี้ในนาม “ชาวเล” ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับท้องทะเลเป็นอย่างมาก โดยในอดีตนั้นพวกเขาอาศัยและดำรงชีพอยู่ตามเกาะและชายฝั่งต่าง ๆ ปัจจุบันพบชาวมอแกนอาศัยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางตอนใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต ภาษามอแกน เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลออสโตรเนเชียน สาขามลาโย – โพลีเนเชียน สาขาย่อยมอแกน

  • ภาษากฺ๋อง

    คำว่า “กฺ๋อง” เป็นคำที่คนกฺ๋องใช้เรียกชื่อกลุ่มและภาษาของตัวเอง ขณะที่ทางราชการเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ลัวะ” แต่คนไทยในพื้นที่ใกล้เคียงส่วนใหญ่มักเรียก“ละว้า” จนปรากฏมีคำว่า “ละว้า” นำหน้าชื่อหมู่บ้านที่มีชาวกฺ๋อง อาศัยอยู่แทบทุกหมู่บ้าน เช่น บ้านละว้าคอกควาย บ้านละว้าวังควาย วิถีชีวิตชาวกฺ๋องส่วนใหญ่พึ่งพิงธรรมชาติ ช้อนกุ้ง จับปลา ล่าสัตว์ หาหน่อไม้ เก็บเห็ด และปลูกข้าวไร่ ในอดีตชาวกฺ๋องมีวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าที่ทอขึ้นเองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ปัจจุบันการแต่งกายในชุดพื้นเมืองแทบจะไม่เหลือให้เห็นกันแล้ว ส่วนศิลปการทอผ้านั้นหายไปกับอดีต จนกระทั่งมีชาวกฺ๋องกลุ่มหนึ่งฟื้นฟูหัตถกรรมทอผ้าขึ้น ชาวกฺ๋องจึงเริ่มหันกลับมาทอผ้ากันอีกครั้ง

  • กะซอง

    กะซอง เป็นชื่อที่ผู้พูดเรียกภาษาของตัวเองและเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา สันนิษฐานว่ามีความหมายว่า “คน” ภาษากะซองเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร กลุ่มย่อยเดียวกันกับภาษาชองที่จังหวัดจันทบุรีและภาษาซัมเรที่จังหวัดตราด ผู้พูดกะซองมีถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เขตชายแดนติดต่อกับกัมพูชา ภาษานี้เดิมเป็นที่รู้จักของคนภายนอกว่า “ชองจังหวัดตราด (Chong of Trat)” ด้วยมีความคล้ายคลึงของชื่อและความใกล้เคียงของภาษา ทำให้เข้าใจว่าเป็นภาษาเดียวกัน ชาวกะซองเองบางคนก็เรียกตัวเองว่า คนชอง พูดชอง ด้วยเหมือนกัน ชาวกะซองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านคลองแสง บ้านด่านชุมพล และจำนวนเล็กน้อยอยู่ที่บ้านปะเดา ในตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด

  • ชอง

    คำว่า “ชอง” แปลว่า “คน” ชาวชองเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในดินแดนเอเชียอาคเนย์ สมัยอาณาจักรเขมร เป็นกลุ่มชนที่มีชื่อเสียงในการทำกระวาน และเครื่องเทศต่าง ๆ ชาวชองและกลุ่มชนใกล้เคียง กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะบริเวณที่ต่อเนื่องกับประเทศกัมพูชา ในบางพื้นที่จะเรียกคนชองว่า “ชึ่มช์อง” ปัจจุบันพบชาวชองอาศัยอยู่หนาแน่นในเขตกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี ตำบลตะเคียนทอง และตำบลคลองพลู ส่วนในเขตตำบลพลวง และในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อนยังมีประชากรที่พูดภาษาชองได้เพียงไม่กี่คน

  • ชอุง

    คำว่า ชอุง มีความหมายว่า “คน” ออกเสียงด้วยลักษณะน้ำเสียงต่ำกระตุกคล้ายคำว่า ชอง ในภาษาชอง ชาวชอุงปัจจุบันอยู่ที่บ้านทุ่งนา อำเภอศรีสวัสดิ์ และบางส่วนอยู่ในอำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ถิ่นฐานเดิมของพวกเขายู่ในจังหวัดกัมปงโสม จังหวัดชายทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศกัมพูชา โดยสันนิษฐานว่า ชาวชอุงที่อยู่ในประเทศไทยอพยพเข้ามาในช่วงเวลาของสงครามอานามสยามยุทธราวพุทธศักราช ๒๓๗๔ – ๒๓๘๗ โดยพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพนำชาวชอุงเดินทางจากตะวันออกสู่จังหวัดกาญจนบุรี สุดแดนตะวันตกของประเทศไทย และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมแม่น้ำแคว อำเภอลาดหญ้า ก่อนที่ชาวชอุงกลุ่มใหญ่จะย้ายไปยังอำเภอศรีสวัสดิ์ในปัจจุบัน

  • ภาษาญัฮกุร

    คำว่า “ญัฮกุร” แปลว่า “คนภูเขา” ญัฮ แปลว่า “คน” และ กุร แปลว่า “ภูเขา” คนทั่วไปรู้จักคนกลุ่มนี้ในนาม “คนดง” หรือ “ชาวบน” ชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ในป่าบนภูเขา เดิมเป็นพรานป่าและย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ เคยอาศัยอยู่ในป่าแถบเทือกเขาพังเหย มีอาณาเขตที่ต่อเนื่องกันระหว่างภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันพบชาวญัฮกุรอาศัยหนาแน่นในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ภาษาญัฮกุร เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ – เขมร สาขาย่อยโมนิก มีความใกล้เคียงกับภาษามอญซึ่งอยู่ในสาขาเดียวกัน

  • ซัมเร

    ผู้พูดพูดซัมเร มีถิ่นฐานอยู่ในอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ที่หมู่บ้านมะม่วง บ้านนนทรีย์ และบ้านคลองโอน เขตตำบลนนทรีย์ เชื่อว่าชาวซัมเรเป็นคนพื้นถิ่นแต่ดั้งเดิม อพยพมาจากบริเวณเทือกเขาบรรทัดในกัมพูชา คำว่า ซัมเร มีความหมายว่า “คน (คนทำนา)” เป็นชื่อที่ผู้พูดเรียกกลุ่มตนเองและภาษาของพวกเขา แต่บุคคลภายนอกเรียก ชอง เช่นเดียวกับเรียกกลุ่มกะซองซึ่งอยู่ในตำบลใกล้ๆ กัน ชาวซัมเรเองก็ยอมรับชื่อที่คนภายนอกเรียกกลุ่มตนไปด้วย ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นคนละกลุ่มคนละภาษากัน วิถีชีวิตของกลุ่มซัมเรไม่ค่อยเป็นที่รูจักของสังคมภายนอก แม้ว่าจะเป็นคนพื้นถิ่นที่อยู่มาช้านานในเขตแดนจังหวัดตราดและมีสัญชาติไทยกันทุกคน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นค่อนข้างทุรกันดารห่างไกลและยังเป็นเขตชายแดน