แผนที่ภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นดิน ซึ่งมีความหลากหลายทางภาษาและชาติพันธุ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประเทศไทยจึงมีประชากรที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยมีถึงกว่า 70 กลุ่มภาษา จัดอยู่ในตระกูลภาษา 5 ตระกูล คือ ตระกูลไท ตระกูลออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) ตระกูลจีน-ทิเบต ตระกูลออสโตรเนเชียน และตระกูลม้ง-เมี่ยน ประชากรไทยกลุ่มต่าง ๆ มีภูมิปัญญา ภาษา วัฒนธรรม และโลกทัศน์ หรือวิธีการให้ความสำคัญ ให้ความหมายกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่แตกต่างหลากหลาย มีผลทำให้เกิดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ การประพฤติปฏิบัติ ธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรมที่แตกต่างกันไป ดังนั้นความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานของประชากรในชาติ ด้านภาษา วัฒนธรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาวิจัยระดับลึก ซึ่งเป็นฐานสำหรับการวางนโยบายภาษาและการวางแผนปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในด้านต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับวิถีชีวิต ทั้งด้านการปกครอง การจัดการศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ เป็นต้น
งานแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารวบรวมภาษาที่พูดในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยในปัจจุบัน ว่ามีภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ใด พูดอยู่ที่ไหน และมีผู้พูดมากน้อยเพียงใด เพื่อให้ได้ภาพรวมของภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ 2) จัดทำฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ด้านภาษาและชาติพันธุ์ของประเทศ 3) เผยแพร่ข้อมูลผลการวิจัยในรูปของแผนที่แสดงการกระจายของภาษาต่าง ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมทั้งพื้นที่ทางวัฒนธรรมและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และการปกครองระดับต่าง ๆ พร้อมทั้งคำอธิบายโดยสังเขป
วิธีการเก็บข้อมูล ใช้แบบสำรวจภาษาที่ส่งตรงไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ในประเทศกว่า 70,000 หมู่บ้าน เพื่อถามถึงภาษาที่ใช้ในบ้าน หรือในครอบครัว ว่ามีภาษาอะไรบ้าง แต่ละภาษามีผู้พูดจำนวนเท่าไหร่หรือกี่เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งหมด ในการประมวลผลข้อมูล การเรียกชื่อภาษาซึ่งอาจมีมากกว่า 1 ชื่อ หรือ 1 ชื่อ อาจหมายถึงหลายกลุ่มนั้น จะใช้ชื่อหรือคำที่เจ้าของภาษาเรียกภาษาของตนเองเป็นหลัก การนำเสนอข้อมูลได้แสดงถึงความสัมพันธ์ทางเชื้อสายภาษาในตระกูลต่าง ๆ ทั้ง 5 ตระกูลภาษา และความสัมพันธ์เชิงสังคมของภาษาต่าง ๆ ในประเทศ และได้นำเสนอข้อมูลเป็นตระกูลภาษาแต่ละตระกูล แต่ละภาษา และแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่เป็นภาค จังหวัด และอำเภอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำเสนอข้อมูลเป็นแผนที่ต่าง ๆ
แผนที่ภาษา
แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางแผ่นดินใหญ่เอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความร่ำรวยหลากหลายด้านภาษาชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ในจำนวนประชากรกว่า 65 ล้านคนนั้น มีภาษาพูดต่างๆ กันถึงกว่า 70 กลุ่มภาษา กระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศ
อ่านเพิ่มเติมแผนที่กลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน
ภาษากลุ่มย่อยหรือชนกลุ่มน้อยมีจำนวนผู้พูดภาษามากน้อยต่างกันไป กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มใหญ่มักมีถิ่นฐานอยู่แนวเขตชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ภาษาเขมรถิ่นไทย ภาษามลายู ภาษามอญ ภาษากะเหรี่ยง ภาษามลายู เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติมแผนที่ภาษาในภาวะวิกฤตใกล้สูญ
อย่างไรก็ตาม นอกจากกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยและกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนแล้ว ยังมีอีก 16 กลุ่มชาติพันธุ์ที่พบว่า มีจำนวนผู้พูดภาษาน้อยมาก และมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ทำให้ภาษามีแนวโน้มอยู่ในภาวะใกล้สูญไปพร้อมกับภูมิปัญญาและองค์ความรู้ท้องถิ่น
อ่านเพิ่มเติม