ชอุง

คำว่า ชอุง มีความหมายว่า “คน” ออกเสียงด้วยลักษณะน้ำเสียงต่ำกระตุกคล้ายคำว่า ชอง ในภาษาชอง ชาวชอุงปัจจุบันอยู่ที่บ้านทุ่งนา อำเภอศรีสวัสดิ์ และบางส่วนอยู่ในอำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ถิ่นฐานเดิมของพวกเขายู่ในจังหวัดกัมปงโสม จังหวัดชายทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศกัมพูชา โดยสันนิษฐานว่า ชาวชอุงที่อยู่ในประเทศไทยอพยพเข้ามาในช่วงเวลาของสงครามอานามสยามยุทธราวพุทธศักราช ๒๓๗๔ – ๒๓๘๗ โดยพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพนำชาวชอุงเดินทางจากตะวันออกสู่จังหวัดกาญจนบุรี สุดแดนตะวันตกของประเทศไทย และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมแม่น้ำแคว อำเภอลาดหญ้า ก่อนที่ชาวชอุงกลุ่มใหญ่จะย้ายไปยังอำเภอศรีสวัสดิ์ในปัจจุบัน พวกเขาเป็นที่รู้จักในชื่อ อูด ข่าสะอูด ชองอูด หรือ นาอูด คำว่า อูด มีความหมายในภาษาชอุงว่า “ไม้ฟืน” พวกเขาเรียกตนเองว่า ชอุ์ง และไม่ชอบให้ผู้อื่นเรียกว่า อูด หรือ สะโอจ (ตามเอกสารเก่าอ้างที่ถึงชาวชอุงในประเทศกัมพูชา) ซึ่งมีความหมายในเชิงดูถูก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คนชอุงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกมะพร้าว พริก หมาก และจับปลาจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปขายตามฤดูกาล จำนวนประชากรชาวชอุงที่เหลืออยู่ไม่มาก พวกเขาอยู่อาศัยร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในหมู่บ้านเดียวกัน เช่น ลาว กะเหรี่ยง ขมุ รวมทั้งไทยที่เป็นกลุ่มใหญ่กว่า ส่งผลให้ชาวชอุงมีจำนวนน้อยลง ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมและภาษาที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มค่อยๆ สูญหายและกลมกลืนไปกับกลุ่มอื่นๆ ผู้พูดภาษากลุ่มสุดท้ายเป็นผู้สูงอายุ ภาษาและวัฒนธรรมของชอุงไม่สามารถส่งต่อให้กับลูกหลาน คนชอุงรุ่นใหม่มักออกมาหางานทำภายนอกหมู่บ้าน ภาษาไทยจึงมีบทบาทสำคัญกับพวกเขามากกว่า ปัจจุบันภาษาชอุงในประเทศไทยอยู่ในสภาวะวิกฤตรุนแรง ไม่แตกต่างไปจากภาษาซัมเร กะซอง และชอง ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาเดียวกัน รวมไปถึงภาษาชอุงในประเทศกัมพูชาด้วย นับว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะฟื้นฟูภาษาชอุงรวมทั้งวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป เนื่องจากขาดทั้งผู้ถ่ายทอดและผู้สืบทอด จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะมีการรวบรวมองค์ความรู้ทางภาษาและวัฒนธรรมชอุงในประเทศไทยไว้ให้มากที่สุด และจัดทำเป็นคลังข้อมูลเพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาษาชอุงจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร กลุ่มย่อยเปียริก เช่นเดียวกับภาษาชองจังหวัดจันทบุรี ภาษากะซองและภาษาซัมเรจังหวัดตราด ทั้งสี่ภาษามีความใกล้เคียงกันมาก เช่น “คน” ภาษาชอุงว่า กะเจิ่ม, ชอุ์ง ภาษาชองว่า กะชึ่ม, ช์อง ภาษากะซองว่า กะซึ่ม และภาษาซัมเรว่า กะซุ้ม ภาษาชอุงมีพยัญชนะต้น ๒๑ หน่วยเสียง พยัญชนะสะกด ๑๓ หน่วยเสียง พยัญชนะประสม ๙ หน่วยเสียง สระเสียงสั้นและยาว ๑๘ หน่วยเสียง โดยมีพยัญชนะสะกดที่เป็นลักษณะของภาษากลุ่มมอญ-เขมร ได้แก่ <จ> <ญ> <ล> และ <ฮ> รวมทั้งมีลักษณะน้ำเสียงที่เป็นลักษณะสำคัญของภาษากลุ่มนี้ ภาษาชอุงมีลักษณะน้ำเสียง ๔ แบบ ได้แก่ ลักษณะน้ำเสียงกลางปกติ เช่น ตาก = ถั่ว, ลักษณะน้ำเสียงสูงบีบ (เสียงปกติตามด้วยการกักของเส้นเสียง) เช่น ต้าก = ลิ้น, ลักษณะน้ำเสียงต่ำใหญ่ (เสียงก้องมีลม) เช่น ต่าก = น้ำ, และลักษณะน้ำเสียงต่ำกระตุก (เสียงก้องมีลมตามด้วยการกักของเส้นเสียง) เช่น มู์ย = หนึ่ง

ลักษณะทางไวยากรณ์มีการสร้างคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมหน้า (Prefix) ตามลักษณะภาษากลุ่มมอญ-เขมร ได้แก่ ปะ และ เออะ “ที่” ที่แสดงการระบุสถานที่ของคำนาม และ เปิง ที่เปลี่ยนจากคำว่า โฮจ “ตาย” ให้เป็น เปิงโฮจ “ฆ่า” มีการเรียงประโยคแบบ ประธาน-กริยา-กรรม เช่น เอ็ญ เจว ท็อง พีง เม์ เออะ.เกลา “ฉัน – ไป – ตก(ปลา) – ปลา – ที่.บ่อ” เอ็ญ วั่ด ฮูม ต่าก ปะ.เอินดูง “ฉัน อยาก อาบ น้ำ ที่ บ่อน้ำ” หรือประโยคคำถาม เช่น ปู่ อีน ปรัก ชี้ว “แก มี เงิน เท่าไหร่” และประโยคคำสั่ง เช่น ปาก ตัง “ขึ้น บ้าน” เป็นต้น

ลักษณะไวยากรณ์ที่น่าสนใจคือการใช้คำปฏิเสธ ๒ คำ ประกบคำกริยาหรือกริยาวลี เช่น ท็ก – บืด – เอฮ “ไม่ – ดี – ไม่” เป็นต้น ภาษาชอุงมีความใกล้ชิดกับภาษาชองมากกว่าภาษากะซองและซัมเร ทั้งลักษณะน้ำเสียง ๔ ลักษณะ เช่น คำว่า เม์ว ทั้งในภาษาชอุงและชองมีความหมายว่า “ปลา” เหมือนกัน มีวงศ์คำศัพท์ที่คล้ายคลึงกัน เช่น “ข้าวสุก” ภาษาชอุงและชองว่า ปล็อง ในขณะที่ภาษากะซองว่า กลง และภาษาซัมเรว่า กล็อง รวมทั้งการใช้หน่วยคำปฏิเสธสองคำประกบกริยาวลีเช่นเดียวกับภาษาชอง แตกต่างกันที่หน่วยคำที่ใช้ในภาษาชองจะใช้หน่วยคำซ้ำกันคือ อิฮ – อิฮ “ไม่ – ไม่” แต่ภาษาชอุงจะใช้คำต่างกันคือ ท็ก – เอฮ “ไม่ – ไม่”

เรียบเรียง
ดร.สุนี คำนวลศิลป์ และ ณัฐมน โรจนกุล

เอกสารอ้างอิง:
(1) Isara Choosri. (2007). Investigating contact-induced language change: cases of Chung (Saoch) in Thailand and Cambodia. Thailand, Nakhonpathom. Ph.D. Thesis, Mahidol University.
(2) สุนี คำนวลศิลป์ และ ณัฐมน โรจนกุล. (2559). ภาษาชอุง. ใน ภาษา: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. หน้า 22-23. กรุงเทพฯ: สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์.