ภาษากฺ๋อง

คำว่า “กฺ๋อง” เป็นคำที่คนกฺ๋องใช้เรียกชื่อกลุ่มและภาษาของตัวเอง ขณะที่ทางราชการเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ลัวะ” แต่คนไทยในพื้นที่ใกล้เคียงส่วนใหญ่มักเรียก“ละว้า” จนปรากฏมีคำว่า “ละว้า” นำหน้าชื่อหมู่บ้านที่มีชาวกฺ๋อง อาศัยอยู่แทบทุกหมู่บ้าน เช่น บ้านละว้าคอกควาย บ้านละว้าวังควาย วิถีชีวิตชาวกฺ๋องส่วนใหญ่พึ่งพิงธรรมชาติ ช้อนกุ้ง จับปลา ล่าสัตว์ หาหน่อไม้ เก็บเห็ด และปลูกข้าวไร่ ในอดีตชาวกฺ๋องมีวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าที่ทอขึ้นเองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ปัจจุบันการแต่งกายในชุดพื้นเมืองแทบจะไม่เหลือให้เห็นกันแล้ว ส่วนศิลปการทอผ้านั้นหายไปกับอดีต จนกระทั่งมีชาวกฺ๋องกลุ่มหนึ่งฟื้นฟูหัตถกรรมทอผ้าขึ้น ชาวกฺ๋องจึงเริ่มหันกลับมาทอผ้ากันอีกครั้ง ในขณะเดียวกันแนวคิดอีกด้านหนึ่งที่ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสสังคมใดๆ นั่นคือ แนวคิดความเชื่อเรื่องการนับถือผี ทุกวันนี้ในวันข้างขึ้นเดือน 6 เรายังคงเห็นชาวกฺ๋องที่บ้านละว้ากกเชียงพร้อมใจทำพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือน เจ้าป่าเจ้าเขา ตามความเชื่อเดิมอยู่เป็นประจำทุกปี

ภาษากฺ๋องเป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต สาขาเบอมิส (พม่า) ภาษาที่มีความใกล้เคียง ได้แก่ ภาษาพม่า ภาษาบีซูที่พบในจังหวัดเชียงราย และภาษาอึมปีที่พบในจังหวัดแพร่ ภาษากฺ๋องเป็นภาษาที่แสดงลักษณะของภาษาตระกูลจีน-ทิเบตอย่างเด่นชัด กล่าวคือ มีระบบเสียงวรรณยุกต์ เช่น กฺอง = ม้า, กฺ่อง = ม้า, กฺ้อง = สูง, กฺ๋อง = คนละว้า พยัญชนะสะกดมีน้อยเพียง 3 เสียงเท่านั้น เช่น กง = ตะกร้า, ค๋ง = นกยูง, ต๋อง = ข้องใส่ปลา ความสั้น-ยาวของเสียงสระไม่ได้ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังมีลักษณะไวยากรณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือคำกริยาอยู่ท้ายประโยค เช่น งา มัง ชูออ <ฉัน-ข้าว-กิน> = ฉันกินข้าว เป็นต้น

จากอดีตชุมชนละว้ากกเชียงมีเพียงคนเชื้อสายกฺ๋องเท่านั้นที่อาศัยอยูในพื้นที่ ภาษาที่ใช้จึงมีภาษาเดียว ต่อมามีการแต่งงานกับคนต่างเชื้อสาย เกิดการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมกัน คนเฒ่าคนแก่ใช้ภาษากฺ๋องปนกับภาษาอื่นๆเช่นภาษาลาว เด็กๆชาวกฺ๋องวันนี้ไม่เข้าใจภาษาแม่ เมื่อไม่เข้าใจจึงไม่ใช้ ไม่พูด วัยรุ่นเข้าใจเพียงระดับคำแต่ไม่นิยมใช้ ด้วยความรู้สึกว่าภาษาแม่นั้นเชย ทัศนคติในทางลบของเจ้าของภาษาเป็นสัญญาณเตือนว่า ภาษาละว้ากำลังจะสูญไปในไม่ช้า อีกทั้งจำนวนคนที่สามารถใช้ภาษากฺ๋องในการสื่อสารได้ไม่ถึง 50 คนจาก 300 คน ของทั้ง 3 หมู่บ้าน คือบ้านละว้าวังควาย บ้านกกเชียง ตำบลขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และบ้านคอกควาย ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนกฺ๋องรู้สถานการณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง เกิดความตระหนักและได้พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรม ตั้งแต่พ.ศ.2557 โดยได้มีการสร้างระบบตัวเขียนภาษากฺ๋องอักษรไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบันทึกเรื่องราวต่างๆ

 

 

 

เรียบเรียง: มยุรี ถาวรพัฒน์
อ้างอิง
(1) มยุรี ถาวรพัฒน์. (2559). ภาษาก๋อง. ใน ภาษา: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. หน้า 8-10. กรุงเทพฯ: สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์.

ข้อมูลเพิ่มเติม
• ระบบเขียนอักษรไทยภาษาก๋อง