ภาษามอแกน

ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า “มอแกน” มีความหมายว่าอย่างไร แต่จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่อาจสันนิษฐานได้ว่า คำว่า “มอแกน” มาจากนิทานพื้นบ้านที่มีการเล่าสืบทอดกันมา โดยน่าจะมาจากคำว่า “ละมอ” ซึ่งแปลว่า “จม” รวมกับคำว่า “เอาะเกน” ซึ่งแปลว่า “ทะเล” กลายเป็นคำว่า “มอแกน” คนทั่วไปรู้จักคนกลุ่มนี้ในนาม “ชาวเล” ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับท้องทะเลเป็นอย่างมาก โดยในอดีตนั้นพวกเขาอาศัยและดำรงชีพอยู่ตามเกาะและชายฝั่งต่าง ๆ ปัจจุบันพบชาวมอแกนอาศัยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางตอนใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต

ภาษามอแกน เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลออสโตรเนเชียน สาขามลาโย – โพลีเนเชียน สาขาย่อยมอแกน – มอแกลน มีความใกล้เคียงกับภาษามอแกลนซึ่งอยู่ในสาขาย่อยเดียวกัน จากการสำรวจของนักภาษาศาสตร์ เช่น Naw Say Bay, D. Horgan, M. Larish พบว่า ภาษามอแกนในประเทศไทยน่าจะเป็นภาษาถิ่นเดียวกับภาษามอแกนที่พูดบริเวณเกาะย่านเชือก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ภาษามอแกนไม่มีระบบเสียง วรรณยุกต์ และมีการเรียงคำแบบ ประธาน-กริยา-กรรม (SVO) เช่นเดียวกับหลายภาษาที่พูดในบริเวณภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประโยคว่า จี ญัม จอน กะ <ฉัน-กิน-ข้าว-แล้ว> = ฉันกินข้าวแล้ว

ปัจจุบัน ภาษามอแกนอยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญหาย เนื่องจากการรุกคืบของคนไทยที่เข้ามาอาศัยปะปน รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวมอแกนอยู่ในภาวะถดถอย เยาวชนเริ่มมีการใช้ภาษาแม่ของตนน้อยลงไปเรื่อย ๆ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาพูดโดยส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2555 ชาวมอแกนได้มีความพยายามฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง โดยได้มีการเริ่มต้นพัฒนาระบบเขียนและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการเก็บบันทึกภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง เพื่อบันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่กำลังจะสูญหายไป

ในอดีต ชาวมอแกนจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเรือและจะเข้าฝั่งเมื่อต้องการซ่อมแซมเรือหรือมีเหตุจำเป็นบางอย่าง เช่น หลบลมมรสุม หาน้ำ อาหาร หรือมีคนเจ็บ เป็นต้น ชาวมอแกนดำรงชีวิตด้วยการหาของทะเลเป็นอาหารโดยผู้ชายมอแกนมีหน้าที่หลักในการออกทะเลหาอาหารเพื่อนำมาเลี้ยงดูครอบครัว สำหรับผู้หญิงมอแกนส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตร ทำงานบ้าน หรือหาสัตว์ทะเลเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามบริเวณชายฝั่งหรือโขดหิน แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปทำให้คนมอแกนส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากเดิมในอดีตที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในทะเลมาอาศัยอยู่บนฝั่งและออกทะเลเป็นครั้งคราว

ระบบเขียนและการฟื้นฟูภาษามอแกน
ระบบเขียนภาษามอแกน จัดทำขึ้นเพื่อสร้างเป็นเครื่องมือในการบันทึกองค์ความรู้ คำศัพท์ นิทาน เรื่องเล่า ภูมิปัญญา สมุนไพร แผนที่ทะเลบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ของชาวมอแกน เป็นต้น เกิดขึ้นจากการดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในโครงการ “สร้างเครื่องมือเพื่อบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวมอแกน หมู่บ้านมอแกน อ่าวบอน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา” ในปีพ.ศ. 2556 โดยมีชุมชนมอแกนเป็นนักวิจัยชุมชน และได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากนักมานุษยวิทยาทัศนาและนักภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

นอกจาก การจัดทำระบบเขียนอักษรไทยแล้ว ชาวมอแกนยังได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง เพื่อบันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของตนเองที่กำลังจะสูญหายไป

อ้างอิง

  1. สราวุฒิ ไกรเสม. (2557). ภาษามอแกน ใน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2557. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
  2. นิล กล้าทะเล และคณะ. (2559). ลาญาน มอแกน. ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.