ซัมเร

ผู้พูดพูดซัมเร มีถิ่นฐานอยู่ในอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ที่หมู่บ้านมะม่วง บ้านนนทรีย์ และบ้านคลองโอน เขตตำบลนนทรีย์ เชื่อว่าชาวซัมเรเป็นคนพื้นถิ่นแต่ดั้งเดิม อพยพมาจากบริเวณเทือกเขาบรรทัดในกัมพูชา คำว่า ซัมเร มีความหมายว่า “คน (คนทำนา)” เป็นชื่อที่ผู้พูดเรียกกลุ่มตนเองและภาษาของพวกเขา แต่บุคคลภายนอกเรียก ชอง เช่นเดียวกับเรียกกลุ่มกะซองซึ่งอยู่ในตำบลใกล้ๆ กัน ชาวซัมเรเองก็ยอมรับชื่อที่คนภายนอกเรียกกลุ่มตนไปด้วย ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นคนละกลุ่มคนละภาษากัน

วิถีชีวิตของกลุ่มซัมเรไม่ค่อยเป็นที่รูจักของสังคมภายนอก แม้ว่าจะเป็นคนพื้นถิ่นที่อยู่มาช้านานในเขตแดนจังหวัดตราดและมีสัญชาติไทยกันทุกคน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นค่อนข้างทุรกันดารห่างไกลและยังเป็นเขตชายแดน คนซัมเรดำรงชีวิตด้วยการหาอาหารจากธรรมชาติรอบตัวและเก็บของป่า เช่น หน่อไม้ หวาย สัตว์ป่า และสมุนไพรต่างๆ ไปขาย บางครอบครัวที่มีที่ดินทำกินก็จะทำไร่สับปะรด ปลูกมันสำปะหลัง ผลไม้ยืนต้น ปลูกข้าวไว้กินเองและขายบ้าง บ้างก็หาเช้ากินค่ำโดยการรับจ้างเหมือนกับคนทั่วไปในท้องถิ่นนั้น นอกจากภาษาแล้ว กลุ่มซัมเรมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ พวกเขามีความเชื่อและนับถือผี ดังนั้นการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตจึงมักจะมีการเซ่นไหว้ผี การเล่นผีแม่มดเป็นประเพณีที่โดดเด่นของกลุ่มซัมเร เช่นเดียวกับคนกะซองที่มีการเล่นนี้ด้วยเหมือนกันแต่อาจแตกต่างกันในรายละเอียด การเล่นผีแม่มดมีวัตถุประสงค์เพื่อปัดเป่าความเจ็บไข้ให้หายไปจากคนป่วย ตามความเชื่อของกลุ่ม คนที่เข้าป่าแล้วเกิดทำสิ่งที่ไม่ควรหรือไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีจะตามมาและทำให้เจ็บป่วย ในพิธีจะมีการเชิญผีที่เรียกกันว่าผีแม่มดมาเข้าร่างทรงและบอกผีช่วยให้หายป่วย มีการตีกลองและร้องรำกันอย่างครึกครื้น นับเป็นโอกาสที่เพื่อนบ้านจะมารวมตัวกัน ร่วมกันประกอบพิธีกรรม และร่วมสนุกสนานรื่นเริง ทุกวันนี้ชาวซัมเรโดยเฉพาะที่บ้านมะม่วงยังคงมีการเล่นผีแม่มดโดยจะจัดต่อเนื่องทุกปีในช่วงเดือนสาม

ภาษาซัมเรเป็นภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร กลุ่มย่อยเปียริก เช่นเดียวกับภาษาชองและกะซอง ทั้งสามภาษานี้มีความใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความแตกต่างในลักษณะทางภาษา ซึ่งเจ้าของภาษารู้สึกถึงความแตกต่าง อาทิคำศัพท์ที่ต่างกัน เช่น “ข้าว(หุงสุก)” ภาษาซัมเรว่า กล็อง ภาษาชองว่า ปล็อง และภาษากะซองว่า กลง หรือคำว่า “น่อง” ภาษาซัมเรว่า ตำลวง ภาษาชองว่า กะเทิ่น ภาษากะซองว่า ครัน ภาษาซัมเรมีพยัญชนะต้น 21 หน่วยเสียง สระเดี่ยว 18 หน่วยเสียง สระประสม 3 หน่วยเสียง และพยัญชนะท้าย 13 หน่วยเสียง โดยมีการใช้ตัวสะกด <จ> <ญ> และ <ฮ> ที่เป็นลักษณะภาษาของกลุ่มมอญ-เขมรอย่างชัดเจน ปัจจุบันภาษาซัมเรเปลี่ยนแปลงมาเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ ใช้ระดับเสียงในการแยกความหมายของคำซึ่งแตกต่างจากภาษาชองและกะซอง (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และพรสววรค์ พลอยแก้ว 2548: 14-16) เสียงวรรณยุกต์ที่ใช้ ได้แก่ วรรณยุกต์กลาง เช่น ซวง = รำ, วรรณยุกต์ต่ำ เช่น ซ่วง = ดม และวรรณยุกต์กลาง-ตก เช่น ซ้วง = บอก อย่างไรก็ตามผู้พูดภาษาซัมเรยังมีลักษณะน้ำเสียงผสมผสานที่แสดงลักษณะดั้งเดิมของภาษากลุ่มมอญ-เขมร ทำให้เกิดเสียงที่ผู้ฟังรับรู้ถึงลักษณะเสียง เช่น เสียงทุ้ม เสียงต่ำหรือเสียงหนัก เสียงพ่นลม เป็นต้น ควบคู่ไปกับระดับเสียงหรือวรรณยุกต์

น่าเสียดายว่าทั้งภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมหลายอย่างของชาวซัมเรกำลังสูญหาย โดยเฉพาะภาษาซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญยิ่งถึงชาติพันธุ์ และยังเป็นเครื่องบันทึกความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ปัจจุบันมีผู้พูดภาษาซัมเรในประเทศไทยประมาณ 50 คน โดยผู้รู้ภาษาดีมีไม่เกิน 10 คน ซึ่งส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปี ผู้พูดภาษาซัมเรเป็นบุคคลทวิภาษาคือพูดภาษาซัมเรและภาษาไทย ทั้งยังใช้ภาษาไทยมากว่าภาษาของตนเองเพราะอยู่ร่วมกับคนไทยอื่นๆ ในท้องถิ่น ภาษาของตนจะใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุที่พูดได้เท่านั้น เด็กๆ เรียนภาษาไทยจากโรงเรียนและไม่หัดพูดภาษาแม่ของตนเลย คนวัยหนุ่มสาวก็ไม่เห็นความสำคัญและรู้สึกว่าภาษาของตนเองด้อยว่าภาษาไทย ภาษาซัมเรนับเป็นภาษาในกลุ่มภาวะวิกฤตขั้นรุนแรง คาดได้ว่าอีกหนึ่งหรือสองช่วงอายุคนคงจะสูญหายไป โอกาสที่จะฟื้นฟูให้คงอยู่ต่อไปเป็นไปได้อยากเพราะขาดบุคคลที่จะร่วมสืบทอด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาและเก็บรวบรวมองค์ความรู้ทางภาษาและวัฒนธรรมกลุ่มซัมเรนี้ไว้ให้มากที่สุด และจัดทำเป็นคลังข้อมูล อนุรักษ์ และเพื่อเผยแพร่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป

เรียบเรียง
ศาสตราจารย์ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และ ดร.สุนี คำนวลศิลป์

เอกสารอ้างอิง
(1) สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และพรสวรรค์ พลอยแก้ว. (2548). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: กะซองและซัมเร. กรุงเทพฯ: เอกพิมพ์ไทย จำกัด.
(2) Sunee Kamnuansin. (2002). Kasong Syntax. M.A. thesis, Institute of Language and Culture for Rural Development, Mahidol University.
(3) สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และสุนี คำนวลศิลป์. ภาษาซัมเร. ใน ภาษา: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. หน้า 24-26. กรุงเทพฯ: สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์.