กลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic group)

กลุ่มชาติพันธุ์ หมายถึงกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมและภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงของจำนวนประชากรของกลุ่ม กลุ่มชาติพันธุ์ในความเข้าใจทั่วไปมักกล่าวถึงกลุ่มชนที่มีภาษาและวัฒนธรรมต่างไปจากภาษาใหญ่และภาษาราชการ นักภาษาศาสตร์ใช้ทฤษฎีทางภาษาจำแนกกลุ่มชนต่าง ๆ จากลักษณะทางเสียงและโครงสร้างภาษาที่คนในกลุ่มใช้พูด และเรียกชื่อภาษาด้วยคำที่เขาใช้เรียกตนเอง หรือคำที่มีความหมายว่า “คน”

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยมีภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ถึงกว่า 70 กลุ่ม (Suwilai, 2006 และ สุวิไลและคณะ, 2547) ภาษาพูดของแต่ละกลุ่มจัดอยู่ในตระกูลภาษาใหญ่ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงเชื้อสายได้ 5 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลไท (Tai-Kadai) จำนวน 24 กลุ่ม, ตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) 23 กลุ่ม, ตระกูลออสโตรเนเซียน (Austronesian) 3 กลุ่ม, ตระกูลจีน-ธิเบต (Tibeto-Burman) 21 กลุ่ม และตระกูลม้ง-เมี่ยน (Hmong-Mien) 2 กลุ่ม แต่ละภาษามีสถานภาพทางสังคมหรือมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่นภูมิภาค และระดับชุมชน โดยมีภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนในโรงเรียนและสื่อสารมวลชน ที่ใช้เชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาต่างๆ เข้าด้วยกัน

ภาษาและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์เป็นทุนทางสังคมที่สำคัญ มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาและความรู้ที่เกี่ยวกับมนุษย์ในเอเชียอาคเนย์ กลุ่มชาติพันธุ์ภาษาต่างๆ ในประเทศไทยมีจำนวนอย่างน้อยถึง 14 ภาษาที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่รุนแรงและชัดเจน (จากผลการวิจัยแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย, สุวิไล และคณะ 2544) มีโอกาสที่จะเสื่อมสลายไปในศตวรรษนี้   เนื่องจากเป็นกลุ่มภาษาที่อยู่ในวงล้อมของภาษาอื่นๆ ที่มีจำนวนมากกว่าและมีสถานะทางสังคมสูงกว่า จำนวนผู้พูดเหลือน้อย หรือยังมีเฉพาะผู้พูดรุ่นอาวุโส และ/หรือไม่มีการใช้ภาษาในบ้าน จึงไม่มีการสืบทอด ได้แก่ ชอง กะซอง ซำเร ชอุ้ง (ซโอจ) ญัฮกุร โซ่ (ทะวืง) ละว้า (เลอเวือะ) มลาบรี อึมปี บีซู มานิ (เกนซิว) ละว้า (ก๋อง) มอแกน อูรักลาโวยจ ในบรรดาภาษาเหล่านี้ภาษาซำเรและกะซองในจังหวัดตราด มีโอกาสน้อยมากที่จะดำรงอยู่ได้ (Pornsawan,1999 และ Sunee,2003) เนื่องจากปัจจุบันมีผู้พูดเหลือเพียงไม่กี่สิบคน และความสามารถในการใช้ภาษาเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ  ภาษาทั้งสองนี้คงจะสูญไปตามอายุขัยของผู้พูด ส่วนกลุ่มภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศไม่ว่าภาษาใหญ่หรือเล็กที่ไม่ใช่ภาษาราชการ ล้วนอยู่ในภาวะไม่ปลอดภัย   ชุมชนเหล่านี้อยู่ในภาวะวิกฤตระดับต่างๆ กัน  กลุ่มที่มีความต่างจากภาษาราชการเป็นอย่างมากจะอ่อนแอ ขาดความมั่นใจ รวมกันไม่ติด  กลุ่มใหญ่บางกลุ่มมีปฏิกิริยาตอบโต้เกรงถูกการครอบงำและการสูญเสีย บางกลุ่มมีความรุนแรง ควบคุมไม่ได้ ฯลฯ การสูญเสียภาษาเป็นการสูญเสียภูมิปัญญา ระบบวิธีคิดหรือโลกทัศน์ของแต่ละกลุ่มชน ซึ่งมีคุณค่ามหาศาล เช่นเดียวกับปัญหาการสูญเสียลักษณะทางชีวภาพอื่นๆ ในโลก เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ฯลฯ

กลุ่มชาติพันธุ์

  • ภาษามอแกน

    ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า “มอแกน” มีความหมายว่าอย่างไร แต่จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่อาจสันนิษฐานได้ว่า คำว่า “มอแกน” มาจากนิทานพื้นบ้านที่มีการเล่าสืบทอดกันมา โดยน่าจะมาจากคำว่า “ละมอ” ซึ่งแปลว่า “จม” รวมกับคำว่า “เอาะเกน” ซึ่งแปลว่า “ทะเล” กลายเป็นคำว่า “มอแกน” คนทั่วไปรู้จักคนกลุ่มนี้ในนาม “ชาวเล” ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับท้องทะเลเป็นอย่างมาก โดยในอดีตนั้นพวกเขาอาศัยและดำรงชีพอยู่ตามเกาะและชายฝั่งต่าง ๆ ปัจจุบันพบชาวมอแกนอาศัยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางตอนใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต ภาษามอแกน เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลออสโตรเนเชียน สาขามลาโย – โพลีเนเชียน สาขาย่อยมอแกน

    อ่านเพิ่มเติม
  • ภาษากฺ๋อง

    คำว่า “กฺ๋อง” เป็นคำที่คนกฺ๋องใช้เรียกชื่อกลุ่มและภาษาของตัวเอง ขณะที่ทางราชการเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ลัวะ” แต่คนไทยในพื้นที่ใกล้เคียงส่วนใหญ่มักเรียก“ละว้า” จนปรากฏมีคำว่า “ละว้า” นำหน้าชื่อหมู่บ้านที่มีชาวกฺ๋อง อาศัยอยู่แทบทุกหมู่บ้าน เช่น บ้านละว้าคอกควาย บ้านละว้าวังควาย วิถีชีวิตชาวกฺ๋องส่วนใหญ่พึ่งพิงธรรมชาติ ช้อนกุ้ง จับปลา ล่าสัตว์ หาหน่อไม้ เก็บเห็ด และปลูกข้าวไร่ ในอดีตชาวกฺ๋องมีวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าที่ทอขึ้นเองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ปัจจุบันการแต่งกายในชุดพื้นเมืองแทบจะไม่เหลือให้เห็นกันแล้ว ส่วนศิลปการทอผ้านั้นหายไปกับอดีต จนกระทั่งมีชาวกฺ๋องกลุ่มหนึ่งฟื้นฟูหัตถกรรมทอผ้าขึ้น ชาวกฺ๋องจึงเริ่มหันกลับมาทอผ้ากันอีกครั้ง

    อ่านเพิ่มเติม
  • กะซอง

    กะซอง เป็นชื่อที่ผู้พูดเรียกภาษาของตัวเองและเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา สันนิษฐานว่ามีความหมายว่า “คน” ภาษากะซองเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร กลุ่มย่อยเดียวกันกับภาษาชองที่จังหวัดจันทบุรีและภาษาซัมเรที่จังหวัดตราด ผู้พูดกะซองมีถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เขตชายแดนติดต่อกับกัมพูชา ภาษานี้เดิมเป็นที่รู้จักของคนภายนอกว่า “ชองจังหวัดตราด (Chong of Trat)” ด้วยมีความคล้ายคลึงของชื่อและความใกล้เคียงของภาษา ทำให้เข้าใจว่าเป็นภาษาเดียวกัน ชาวกะซองเองบางคนก็เรียกตัวเองว่า คนชอง พูดชอง ด้วยเหมือนกัน ชาวกะซองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านคลองแสง บ้านด่านชุมพล และจำนวนเล็กน้อยอยู่ที่บ้านปะเดา ในตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด

    อ่านเพิ่มเติม
  • ชอง

    คำว่า “ชอง” แปลว่า “คน” ชาวชองเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในดินแดนเอเชียอาคเนย์ สมัยอาณาจักรเขมร เป็นกลุ่มชนที่มีชื่อเสียงในการทำกระวาน และเครื่องเทศต่าง ๆ ชาวชองและกลุ่มชนใกล้เคียง กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะบริเวณที่ต่อเนื่องกับประเทศกัมพูชา ในบางพื้นที่จะเรียกคนชองว่า “ชึ่มช์อง” ปัจจุบันพบชาวชองอาศัยอยู่หนาแน่นในเขตกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี ตำบลตะเคียนทอง และตำบลคลองพลู ส่วนในเขตตำบลพลวง และในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อนยังมีประชากรที่พูดภาษาชองได้เพียงไม่กี่คน

    อ่านเพิ่มเติม
  • ชอุง

    คำว่า ชอุง มีความหมายว่า “คน” ออกเสียงด้วยลักษณะน้ำเสียงต่ำกระตุกคล้ายคำว่า ชอง ในภาษาชอง ชาวชอุงปัจจุบันอยู่ที่บ้านทุ่งนา อำเภอศรีสวัสดิ์ และบางส่วนอยู่ในอำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ถิ่นฐานเดิมของพวกเขายู่ในจังหวัดกัมปงโสม จังหวัดชายทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศกัมพูชา โดยสันนิษฐานว่า ชาวชอุงที่อยู่ในประเทศไทยอพยพเข้ามาในช่วงเวลาของสงครามอานามสยามยุทธราวพุทธศักราช ๒๓๗๔ – ๒๓๘๗ โดยพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพนำชาวชอุงเดินทางจากตะวันออกสู่จังหวัดกาญจนบุรี สุดแดนตะวันตกของประเทศไทย และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมแม่น้ำแคว อำเภอลาดหญ้า ก่อนที่ชาวชอุงกลุ่มใหญ่จะย้ายไปยังอำเภอศรีสวัสดิ์ในปัจจุบัน

    อ่านเพิ่มเติม
  • ภาษาญัฮกุร

    คำว่า “ญัฮกุร” แปลว่า “คนภูเขา” ญัฮ แปลว่า “คน” และ กุร แปลว่า “ภูเขา” คนทั่วไปรู้จักคนกลุ่มนี้ในนาม “คนดง” หรือ “ชาวบน” ชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ในป่าบนภูเขา เดิมเป็นพรานป่าและย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ เคยอาศัยอยู่ในป่าแถบเทือกเขาพังเหย มีอาณาเขตที่ต่อเนื่องกันระหว่างภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันพบชาวญัฮกุรอาศัยหนาแน่นในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ภาษาญัฮกุร เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ – เขมร สาขาย่อยโมนิก มีความใกล้เคียงกับภาษามอญซึ่งอยู่ในสาขาเดียวกัน

    อ่านเพิ่มเติม
  • ซัมเร

    ผู้พูดพูดซัมเร มีถิ่นฐานอยู่ในอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ที่หมู่บ้านมะม่วง บ้านนนทรีย์ และบ้านคลองโอน เขตตำบลนนทรีย์ เชื่อว่าชาวซัมเรเป็นคนพื้นถิ่นแต่ดั้งเดิม อพยพมาจากบริเวณเทือกเขาบรรทัดในกัมพูชา คำว่า ซัมเร มีความหมายว่า “คน (คนทำนา)” เป็นชื่อที่ผู้พูดเรียกกลุ่มตนเองและภาษาของพวกเขา แต่บุคคลภายนอกเรียก ชอง เช่นเดียวกับเรียกกลุ่มกะซองซึ่งอยู่ในตำบลใกล้ๆ กัน ชาวซัมเรเองก็ยอมรับชื่อที่คนภายนอกเรียกกลุ่มตนไปด้วย ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นคนละกลุ่มคนละภาษากัน วิถีชีวิตของกลุ่มซัมเรไม่ค่อยเป็นที่รูจักของสังคมภายนอก แม้ว่าจะเป็นคนพื้นถิ่นที่อยู่มาช้านานในเขตแดนจังหวัดตราดและมีสัญชาติไทยกันทุกคน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นค่อนข้างทุรกันดารห่างไกลและยังเป็นเขตชายแดน

    อ่านเพิ่มเติม