กลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic group)
กลุ่มชาติพันธุ์ หมายถึงกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมและภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงของจำนวนประชากรของกลุ่ม กลุ่มชาติพันธุ์ในความเข้าใจทั่วไปมักกล่าวถึงกลุ่มชนที่มีภาษาและวัฒนธรรมต่างไปจากภาษาใหญ่และภาษาราชการ นักภาษาศาสตร์ใช้ทฤษฎีทางภาษาจำแนกกลุ่มชนต่าง ๆ จากลักษณะทางเสียงและโครงสร้างภาษาที่คนในกลุ่มใช้พูด และเรียกชื่อภาษาด้วยคำที่เขาใช้เรียกตนเอง หรือคำที่มีความหมายว่า “คน”
ประเทศไทยมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยมีภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ถึงกว่า 70 กลุ่ม (Suwilai, 2006 และ สุวิไลและคณะ, 2547) ภาษาพูดของแต่ละกลุ่มจัดอยู่ในตระกูลภาษาใหญ่ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงเชื้อสายได้ 5 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลไท (Tai-Kadai) จำนวน 24 กลุ่ม, ตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) 23 กลุ่ม, ตระกูลออสโตรเนเซียน (Austronesian) 3 กลุ่ม, ตระกูลจีน-ธิเบต (Tibeto-Burman) 21 กลุ่ม และตระกูลม้ง-เมี่ยน (Hmong-Mien) 2 กลุ่ม แต่ละภาษามีสถานภาพทางสังคมหรือมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่นภูมิภาค และระดับชุมชน โดยมีภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนในโรงเรียนและสื่อสารมวลชน ที่ใช้เชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาต่างๆ เข้าด้วยกัน
ภาษาและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์เป็นทุนทางสังคมที่สำคัญ มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาและความรู้ที่เกี่ยวกับมนุษย์ในเอเชียอาคเนย์ กลุ่มชาติพันธุ์ภาษาต่างๆ ในประเทศไทยมีจำนวนอย่างน้อยถึง 14 ภาษาที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่รุนแรงและชัดเจน (จากผลการวิจัยแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย, สุวิไล และคณะ 2544) มีโอกาสที่จะเสื่อมสลายไปในศตวรรษนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มภาษาที่อยู่ในวงล้อมของภาษาอื่นๆ ที่มีจำนวนมากกว่าและมีสถานะทางสังคมสูงกว่า จำนวนผู้พูดเหลือน้อย หรือยังมีเฉพาะผู้พูดรุ่นอาวุโส และ/หรือไม่มีการใช้ภาษาในบ้าน จึงไม่มีการสืบทอด ได้แก่ ชอง กะซอง ซำเร ชอุ้ง (ซโอจ) ญัฮกุร โซ่ (ทะวืง) ละว้า (เลอเวือะ) มลาบรี อึมปี บีซู มานิ (เกนซิว) ละว้า (ก๋อง) มอแกน อูรักลาโวยจ ในบรรดาภาษาเหล่านี้ภาษาซำเรและกะซองในจังหวัดตราด มีโอกาสน้อยมากที่จะดำรงอยู่ได้ (Pornsawan,1999 และ Sunee,2003) เนื่องจากปัจจุบันมีผู้พูดเหลือเพียงไม่กี่สิบคน และความสามารถในการใช้ภาษาเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ ภาษาทั้งสองนี้คงจะสูญไปตามอายุขัยของผู้พูด ส่วนกลุ่มภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศไม่ว่าภาษาใหญ่หรือเล็กที่ไม่ใช่ภาษาราชการ ล้วนอยู่ในภาวะไม่ปลอดภัย ชุมชนเหล่านี้อยู่ในภาวะวิกฤตระดับต่างๆ กัน กลุ่มที่มีความต่างจากภาษาราชการเป็นอย่างมากจะอ่อนแอ ขาดความมั่นใจ รวมกันไม่ติด กลุ่มใหญ่บางกลุ่มมีปฏิกิริยาตอบโต้เกรงถูกการครอบงำและการสูญเสีย บางกลุ่มมีความรุนแรง ควบคุมไม่ได้ ฯลฯ การสูญเสียภาษาเป็นการสูญเสียภูมิปัญญา ระบบวิธีคิดหรือโลกทัศน์ของแต่ละกลุ่มชน ซึ่งมีคุณค่ามหาศาล เช่นเดียวกับปัญหาการสูญเสียลักษณะทางชีวภาพอื่นๆ ในโลก เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ฯลฯ